รีเซต

จริงหรือ? คนชรากิน "ปาท่องโก๋" ใส่แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต ทำให้ไตทำงานหนัก

จริงหรือ? คนชรากิน "ปาท่องโก๋" ใส่แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต ทำให้ไตทำงานหนัก
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2565 ( 10:20 )
222

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องคนชรากินปาท่องโก๋ที่ใส่แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต ทำให้ไตทำงานหนัก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมอนามัย หน่วยงานสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ


จากกรณีที่มีการบอกต่อข้อมูลโดยระบุว่า หากให้ผู้สูงอายุ รับประทานปาท่องโก๋ที่ใส่แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต จะทำให้ไตทำงานหนัก ทางกรมอนามัย หน่วยงานสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า แอมโมเนียมไบคาร์บอเนตไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ หากคนชรากินจะทำให้ไตทำงานหนัก ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งปาท่องโก๋มีสารที่นิยมใช้ในการทำให้ขึ้นฟู 3 ชนิด คือ ผงฟู ยีสต์ และแอมโมเนียมไบคาร์บอเนต (NH₄HCO₃) จะช่วยให้ปาท่องโก๋กรอบพองฟู สารแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติในการทำให้เกิดการขึ้นฟูในขั้นตอนที่ต่างกัน ผงฟูที่นิยมใช้ในปาท่องโก๋เป็นชนิด double acting baking powder จะทำให้เกิดการขึ้นฟูในขั้นตอนการผสมหมักแป้งและในระหว่างการทอด ยีสต์ทำหน้าที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้แป้งหมักโดขยายตัวและเพิ่มปริมาตร แอมโมเนียมไบคาร์บอเนตช่วยทำให้เกิดการขึ้นฟูได้ระหว่างการทอด และจะสลายตัวเมื่อได้รับความร้อนที่อุณหภูมิ 36-60 องศาเซลเซียส


โดยเมื่อสลายตัวจะให้คาร์บอนไดออกไซค์ แอมโมเนีย และไอน้ำ หากใช้แอมโมเนียมไบคาร์บอเนตในปริมาณที่เหมาะสม แก๊สจะระเหยออกไปหมดโดยจะไม่ส่งกลิ่นทิ้งไว้ในปาท่องโก๋ แต่การทอดปาท่องโก๋ด้วยด้วยน้ำมันที่ไม่ร้อนจัดพอ ระยะเวลาไม่นานพอ ทอดแบบแน่นเกินไป หรือใส่สารมากเกินความจำเป็น สารแอมโมเนียระเหยไม่หมด ทำให้เกิดกลิ่นของแอมโมเนีย ซึ่งมีกลิ่นคล้ายฉี่ ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องกลิ่นแอมโมเนียจากสารที่ช่วยขึ้นฟูจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ไอระเหยอาจจะทำให้ผู้ทอดเกิดอาการระคายเคืองในลําคอ ดังนั้นผู้ขายควรมีสูตรผสมที่ใส่แอมโมเนียมไบคาร์บอเนตในปริมาณที่เหมาะสม แอมโมเนียมไบคาร์บอเนตไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ กระแสที่ว่าปาท่องโก๋ใส่เกลือแอมโมเนียมไบคาร์บอเนต หากคนชรากินจะทำให้ไตทำงานหนักไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด


แต่ควรจะระมัดระวังไม่กินปาท่องโก๋เป็นประจำ ปาท่องโก๋คู่หนึ่งให้พลังงานราว 120 – 180 กิโลแคลอรี พลังงานส่วนใหญ่มาจากไขมัน ปาท่องโก๋เป็นอาหารทอดที่มีการดูดซับน้ำมันในปริมาณมาก เนื่องจากทอดแบบน้ำมันท่วม โดยทั่วไปจะใช้น้ำมันบัวในการทอด ซึ่งน้ำมันบัวนี้คือน้ำมันมะพร้าวผสมกับน้ำมันปาล์ม มีไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคไขมันอิ่มตัวสูงเป็นประจำ ส่งผลเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา และหากทอดแบบผ่านความร้อนระยะเวลานาน หรือผ่านการใช้ทอดน้ำมันซ้ำ จะเกิดสารก่อมะเร็งได้ อันตรายต่อทั้งผู้ทอดและผู้บริโภคและในปาท่องโก๋มีการใส่เกลือ ผงฟูในส่วนผสม ซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ การที่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ส่งผลเสียต่อไต เนื่องจากการที่มีการคั่งของน้ำและความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่าง ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น แต่ในปาท่องโก๋ไม่ได้ใส่เกลือหรือผงฟูมากขนาดนั้น หากไม่กินมากจนเกินไปก็ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย


ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอนามัย หน่วยงานสำนักอนามัยผู้สูงอายุ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://eh.anamai.moph.go.th หรือโทร 02 5904504


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : หากคนชรากินปาท่องโก๋ที่ใส่แอมโมเนียมไบคาร์บอเนต ไม่ทำให้ไตทำงานหนัก เพราะแอมโมเนียมไบคาร์บอเนต ไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ แต่ควรระวังไม่กินปาท่องโก๋เป็นประจำ เพราะอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา





ที่มา ศูนยต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก AFP/แฟ้มภาพ TNN ช่อง 16

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง