รีเซต

อ่านแล้วไปไหน? ตั้งคำถามกับอนาคตของวัฒนธรรมการอ่านไปด้วยกัน

อ่านแล้วไปไหน? ตั้งคำถามกับอนาคตของวัฒนธรรมการอ่านไปด้วยกัน
TNN ช่อง16
17 มีนาคม 2565 ( 20:08 )
157
อ่านแล้วไปไหน? ตั้งคำถามกับอนาคตของวัฒนธรรมการอ่านไปด้วยกัน

    ‘การอ่าน’ หนึ่งคำสั้นกระชับประกอบด้วย 2 พยางค์ แต่มีความหมายล้านแบบแล้วแต่คนนิยาม การอ่านคือเพื่อน การอ่านคือความรู้ การอ่านคือการหลบไปในโลกแห่งจินตนาการส่วนตัว ฯลฯ 

เพราะการอ่านไม่ต่างกับการเดินทางที่จะพาเราไปสำรวจความหมายและความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ละครั้งที่อ่านเราจึงอาจได้เพื่อนใหม่เป็นตัวละครจากวรรณกรรมสักเรื่อง เป็นคนที่จัดการอะไรได้ดีขึ้นจากหนังสือฮาวทูเล่มฮิต หรือแม้แต่การอ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของเพื่อนสักคนที่ทำให้เราเห็นโลกในมุมที่ไม่เคยเห็น ทุกครั้งหลังอ่านอะไรสักอย่างจบ เรามักจะพบว่าเราเป็นคนใหม่ที่เดินทางมาไกลแล้วจากอดีต เพราะการอ่านพาเราเดินทางสู่อนาคตเสมอ

    ‘อ่านแล้วไปไหน?’ จึงเป็นคำถามที่อยากชวนทุกคนมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘การอ่าน’ ในนิยามของเรานั้นจะพาเราไปสู่สิ่งใด? มาเติมคำตอบในแบบของคุณไปด้วยกันในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 กับธีม ‘อนาคต’ ที่เชื่อว่าการอ่านจะพาทุกคนไปสำรวจเส้นทางใหม่ๆ ให้การอ่านทำให้อนาคตใกล้กว่าที่คุณคิด


อ่านอดีตเพื่ออ่านอนาคต: เขาว่ากันว่า…คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด? 

     ว่ากันว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าข้อมูลนี้จริงแค่ไหน? วัดจากอะไร แล้วกลุ่มตัวอย่างคือใครกันนะ? อ่านปีละ 8 บรรทัด หมายถึงทุกๆ เดือนครึ่งเราอ่านแค่คนละ 1 บรรทัดเท่านั้น รู้แบบนี้ยิ่งแอบเถียงอยู่ในใจว่าแค่อ่านสเตตัสเฟซบุ๊กเพื่อนก็เกิน 8 บรรทัดแล้วนะ แม้ประโยคนี้จะวนเวียนอยู่คู่สังคมนักอ่านและกลุ่มคนทั่วไป มายาวนาน แต่หากไล่ย้อนดูสถิติและงานวิจัยเรื่องการอ่านตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมากลับพบว่าข้อมูลที่ออกมานั้นสวนทางกับข้อความที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 8 บรรทัดอย่างสิ้นเชิง

     ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2561 โดยเก็บข้อมูลจากชาวไทย 55,920 ครัวเรือนตัวอย่าง ในทุกภูมิภาคและทุกช่วงวัย พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้เวลาอ่านเฉลี่ยมากถึงวันละ 80 นาที ส่วนเยาวชนไทยเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านหนังสือมากที่สุด อ่านเฉลี่ยวันละ 109 นาที 

     ไม่เพียงเท่านั้นแนวโน้มการอ่านของประชากรไทยยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยปี พ.ศ. 2551 มีอัตราการอ่านร้อยละ 66.3 และในปี พ.ศ. 2554 ร้อยละ 68.6 ส่วนปี พ.ศ.2561 อัตราอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 78.8 ที่สำคัญในจำนวนนักอ่านเหล่านี้มีผู้ที่อ่านหนังสือทุกวันมากถึงร้อยละ 54 และอ่านทุก 4-6 วันรองลงมา

      โดยเฉพาะการอ่านของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีที่อ่านด้วยตนเอง หรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟังมีจำนวน 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 61.2 ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ เช่นเดียวกับระยะเวลาการอ่านของน้องๆ หนูๆ ต่อวันที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าด้วย

      ไม่เพียงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเท่านั้น ยังมีงานวิจัยจากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และสถิติของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยที่ยืนยันว่าในเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัดอย่างที่หลายคนเข้าใจ


เพราะการอ่านคือการเดินทาง วัฒนธรรมการอ่านจึงหลากหลายและไม่หยุดนิ่ง

      ไม่ต่างจากนิยามของการอ่าน เราทุกคนล้วนมีภาพในหัวของ ‘การอ่าน’ แตกต่างกันไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพตัวแทนการอ่านในหัวใครหลายคนคือการอ่านหนังสือเล่มโต อัดแน่นไปด้วยความรู้ หรือวรรณกรรมเคร่งขรึมที่ชวนตั้งคำถามหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่เพราะการอ่านคือการเดินทาง วัฒนธรรมการอ่านจึงหลากหลายและไม่หยุดนิ่งตามไปด้วย

      หากย้อนเวลากลับไปที่ยุคกรีกโบราณ นักปรัชญาสมัยนั้นบอกว่าการอ่านวรรณกรรมคือเรื่องอันตราย! โดยเฉพาะกับเยาวชน เนื่องด้วยเนื้อหาที่เป็นเรื่องแต่งอาจมอมเมาให้ผู้อ่านหลงไปในโลกแห่งความลวงได้ หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ล้วนยืนยันว่าช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 10 โลกตะวันตกเน้นการอ่านออกเสียง วัฒนธรรมการอ่านในใจหรือการอ่านที่ต้องการความเงียบเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้น 

      การอ่านนิทานให้เด็กฟังเพื่อพัฒนาการของเด็กในปัจจุบัน หรือวัฒนธรรมการอ่านในห้องสมุดที่ต้องการความเงียบสงบจึงผ่านการเดินทางมาไกลแสนไกลจากวัฒนธรรมการอ่านในอดีต แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมการอ่านที่เราคุ้นเคยกันอยู่ตอนนี้จึงอาจเป็นวัฒนธรรมการอ่านคนละรูปแบบกับวัฒนธรรมการอ่านเมื่อร้อยปีก่อน หรือพันปีก่อนอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับอนาคตของการอ่านนับจากวินาทีนี้มีที่อาจมีรูปแบบการเดินทางที่หลากหลายและไม่หยุดอยู่กับที่ แล้วแต่เราทุกคนจะช่วยกันแต่งแต้ม

      แม้หลายคนจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการอ่านในฐานะการอ่านหนังสือเล่มโตเท่านั้น แต่แนวโน้มการอ่านในปัจจุบันกำลังขยายตัวสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่หนังสือที่เป็นรูปเล่ม สถิติการอ่านหนังสือของคนไทยรวมเอาการอ่านหนังสือหรือบทความทุกประเภท ทั้งที่เป็นรูปเล่ม เอกสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการอ่านผ่านสังคมออนไลน์ เช่น 

เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ 

      สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าคนไทยอ่านข้อความจากสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดร้อยละ 61.2 โดยมีหนังสือพิมพ์รองลงมา ตามด้วยแบบเรียน และหนังสือทั่วไป อย่างไรก็ตามถ้าพูดถึงการอ่านแบบเป็นตัวบท นักอ่านยังเลือกอ่านหนังสือกระดาษมากกว่า e-book อย่างเห็นได้ชัด คงพอบอกได้ว่าวัฒนธรรมการอ่านในปัจจุบันมีความหลากหลายและเฉพาะตัวมากขึ้น การอ่านขยายตัวสู่การอ่านทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราสามารถอ่านได้ทุกเวลาโดยการอ่านแต่ละแบบตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกัน

      ผู้คนอาจไม่ได้ตามข่าวสารจากการอ่านหนังสือพิมพ์ก่อนออกจากบ้านตอนเช้า แต่ติดตามอ่านการสรุปข่าวจากอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาเชื่อถือผ่านเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์แทน รวมถึงบางคนอาจเลือกอ่านนิยายแชทเป็นตอนๆ ผ่านแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ ก่อนตามซื้อหนังสือแบบรูปเล่มเพื่อเก็บสะสมแทน 

      รวมถึงรูปแบบหนังสือที่ผู้คนนิยมก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน สถิติของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยช่วยให้เห็นเทรนด์จากนักอ่านมากขึ้น โดยหนังสือที่ขายดีที่สุดในงานหนังสือปี พ.ศ.2564 คือการ์ตูนและไลท์โนเวล และหนังสือประเภทหลักที่ได้รับความนิยมตลอดมาในงานสัปดาห์หนังสือคือ การ์ตูน รวมถึงนิยายวายที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสืออย่างไม่อาจปฏิเสธได้


เริ่มอ่านในแบบของเรา อนาคตในแบบของเรา

      วัฒนธรรมการอ่านอาจมีรูปแบบต่างออกไปจากภาพที่ใครหลายคนคุ้นชิน แต่เพราะยังเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง จึงแปลว่าวัฒนธรรมการอ่านในไทยยังมีชีวิต การอ่านทุกรูปแบบกำลังเพิ่มความหลากหลายและขยายความเป็นไปได้ของวัฒนธรรมการอ่านออกไปให้กว้างขวาง 

      การอ่านอนาคตจึงไม่ใช่แค่การอ่านรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการอ่านที่เปิดกว้าง หลากหลาย คล้ายเป็นการเดินทางที่ทุกคนกำหนดเป้าหมายและอนาคตในแบบที่ตัวเองอยากเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านสายหลงใหลกลิ่นหมึกจากหนังสือแบบรูปเล่ม หรือเป็นสาย e-book เน้นพกพาสะดวก นักอ่านสายวรรณกรรมและข้อมูลเข้มข้น หรือสายนิยายวายไลท์โนเวลให้ชีวิตผ่อนคลาย กระทั่งสายอ่านออนไลน์ไล่อ่านตั้งแต่แคปชันอินสตาแกรมเพื่อนๆ ยันนิยายแชท เราทุกคนคืออนาคตของการอ่าน

      มาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงหลากหลายด้วยการ ‘อ่านอนาคต’ ไปด้วยกันในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม – วันพุธที่ 6 เมษายน 2565 เวลา 10.00-21.00 น. (วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม เปิดให้เข้างานเวลา 17.00-21.00 น.) ณ สถานีกลางบางซื่อ 


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/bookthai

หรือสำรวจหนังสือแบบออนไลน์ก่อนได้ที่ https://www.thaibookfair.com


อ้างอิง


วรรณกรรม : ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ = A little history of literature / John Sutherland ; แปล, สุรเดช โชติอุดมพันธ์

https://pubat.or.th/wp-content/uploads/2021/11/TBF_BET2021hybrid_for-member.pdf

https://pubat.or.th/wp-content/uploads/2021/01/Report_BookExpoThailand-2020.pdf

https://bit.ly/3hMB2Cs

https://bit.ly/3sLtPJm

https://bit.ly/3ClqHa3 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง