รีเซต

'บิ๊กตู่' ถก กกร. วันนี้ เคลียร์ปม'ซื้อ-ฉีดวัคซีน' - ส.อ.ท.จี้รัฐล็อกดาวน์ 15 วันสกัดโควิด

'บิ๊กตู่' ถก กกร. วันนี้ เคลียร์ปม'ซื้อ-ฉีดวัคซีน' - ส.อ.ท.จี้รัฐล็อกดาวน์ 15 วันสกัดโควิด
มติชน
28 เมษายน 2564 ( 08:14 )
84

‘บิ๊กตู่’ ถก กกร. วันนี้ เคลียร์ปม’ซื้อ-ฉีดวัคซีน’ ขณะที่ ส.อ.ท. จี้รัฐล็อกดาวน์ 15 วันสกัดโควิดให้ได้ ด้านแรงงานไทยแบกหนี้พุ่งรอบ 12 ปี

 

 

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมระหว่างภาคเอกชน นำโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันนี้นั้น

 

 

“เบื้องต้น นายกฯจะให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานและสรุปสถานการณ์วัคซีนในประเทศให้เอกชนรับทราบ ว่าความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ก่อนจะเริ่มการประชุมใน 2 วาระ คือ 1.สรุปเรื่องการกระจายวัคซีน และ 2.การจัดหาวัคซีน ในส่วนของหอการค้าฯไม่มีข้อเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม เพราะเป้าหมายหลักในตอนนี้ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลคือ การขับเคลื่อนเรื่องวัคซีน” นายสนั่นกล่าว

 

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รอบ 3 ว่าค่อนข้างรุนแรงกว่าการระบาดที่ผ่านมา จำเป็นจะต้องมีการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นอีก เน้นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง บางธุรกิจ บางอาชีพ อย่างน้อย 15 วัน จุดไหนไม่ล็อกดาวน์ให้มีความเข้มงวดในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ถ้าสถานที่ไหนมีความสุ่มเสี่ยงก็เพิ่มการล็อกดาวน์ไปอีก

 

 

ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยปี 2564 ว่า กลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จากผู้ใช้แรงงาน 1,256 ราย ระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2564 พบ 98.1% ของแรงงานไทย ระบุมีภาระหนี้สิน ถือว่าสูงสุดจากที่เก็บข้อมูลมา

 

 

โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้จากหาเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จ่ายหนี้เดิม และ 82% ระบุอัตรารายได้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ 85.1% เจอภาวะผิดนัดชำระหนี้ และ 60% ภาระหนี้กระทบต่อการใช้จ่ายต้องลดลง ไม่สามารถออมเงินได้ อีกทั้ง 71.5% ระบุว่าสถานการณ์ตอนนี้มีปัญหารายได้ไม่พอใช้จ่ายแล้ว โดยแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน มีหนี้ครัวเรือน 2.06 แสนบาท เพิ่มขึ้น 29.56% แยกเป็นหนี้ในระบบ 71% หนี้นอกระบบ 29% จากปี 2562 ที่มียอดหนี้ 1.59 แสนบาท ถือเป็นภาระหนี้สูงสุดจากเก็บสำรวจมา 12 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง