รีเซต

เพิ่มสิทธิ์เราเที่ยวด้วยกันนอน 10 คืน ช่วยค่าตั๋วเครื่องบินเพิ่มเป็น 2,000

เพิ่มสิทธิ์เราเที่ยวด้วยกันนอน 10 คืน ช่วยค่าตั๋วเครื่องบินเพิ่มเป็น 2,000
ข่าวสด
19 สิงหาคม 2563 ( 15:47 )
35

 

เที่ยวดัวยกันเหงา คนใช้แค่ 10% สั่งเพิ่มสิทธิ์รร.เป็น 10 คืน ค่าตั๋วเครื่องบินขยายเป็น 2 พัน ผุดแผนจ้างงาน เน้นนักศึกษาจบใหม่ กระตุ้นค่าใช้จ่ายรากหญ้า

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อมา นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมว่า การแพร่ระบาดของโรคไวรรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐโลกอย่างรุนแรง ซึ่งไทยได้รับผลกระทบด้านท่องเที่ยว ส่งออกรวมทั้งภาคธุรกิจ นายกรัฐมนตรีจึงจะเริ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

 

ที่ประชุม ศบศ.มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการมาตรการบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2 ระดับ คือระดับพื้นที่ (Micro) โดยแบ่งงานให้รัฐมนตรีแต่ละคนเข้าไปดูแลในแต่ละพื้รนที่จังหวัด เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในระดับพื้นที่ การสนับสนุนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย โดยทำงานร่วมกับจังหวัด และระดับประเทศ (Macro) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ ส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงานในภาพรวม

 

ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ ผ่านศบศ. โดยมอบหมายให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตาม มาตรการทั้ง 2 ระดับ

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ ศบศ. ศูนย์ 3 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน 2.คณะอนุกรรมการเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว และ 3.คณะอนุกรรมการสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อจัดวิเคราะห์และจัดทำรายละเอียดข้อเสนอแนะ และแนวทางการดำเนินมาตรการเศรษฐกิจและนำเสนอศูนย์บริหารเศรษฐกิจพิจารณาต่อไป

 

รวมทั้งมอบหมายให้ นายสมิทธ์ พนมยงค์ ทำหน้าที่เป็นโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ

ด้าน นายสมิทธ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบศ.ได้รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด โดยหลายประเทศยังระบาดรุนแรงส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่ 2 ปี 63 ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ กระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทย ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 63 เศรษฐกิจปรับตัวลดลง 12.2% ต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 41 และคาดว่าทั้งปีจะติดลบ 7% มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลิกจ้างและปิดกิจการของผู้ประกอบการรายย่อย เกิดภาวะตกงาน

 

นอกจากนี้ ยังมีการรับทราบความคืบหน้าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรายงานข้อมูล ณ วันที่ 17 ส.ค. ว่ามีประชาชนลงทะเบียน 4.62 ล้านคน มีโรงแรมและที่พักลงทะเบียนรวม 6,943 แห่ง ร้านอาหาร 60,273 ร้าน และผู้ประกอบการ OTOP 1,058 แห่ง มีการใช้สิทธิ์โรงแรมทั้งสิ้น 544,373 คืน มูลค่าห้องพักที่จองทั้งหมด 1,622 ล้านบาท

ส่วนการใช้จ่ายผ่าน e-Wallet มีผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 145,152 ราย ยอดใช้จ่ายทั้งหมด 187.9 ล้านบาท สำหรับการขอรับสิทธิ์เงินคืนค่าบัตรโดยสาร มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์แล้ว 10,155 ราย มีจำนวนการจองตั๋วแล้ว 1,701 ราย และมูลค่าบัตรโดยสารรวม 4.9 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ จะเห็นว่า ทท.ตั้งเป้าว่าจะใช้สิทธิ์โรงแรม 5 ล้านคืน แต่ขณะนี้มีการใช้เพียง 5.5 แสนคืน หรือประมาณ 10% เท่านั้น และยังครอบคลุมเฉพาะจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ ระยะรัศมีไม่เกิน 300 กิโลเมตร เท่านั้น ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ขยายสิทธิ์การจองห้องพักจากคนละ 5 คืน เป็นคนละ 10 คืน และขยายวงเงินสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท เพื่อให้เดินทางท่องเที่ยวให้ไกลมากขึ้น คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติได้สัปดาห์หน้า

 

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 4 มาตรการ คือ 1. มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้แก่ การออกมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมไทยเที่ยวไทยเพิ่มเติม การสร้างแรงจูงใจให้พันธมิตรภาคเอกชนมีส่วนร่วม เช่น บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้บางส่วน

2.มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจและ SMEs ให้รายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนซึ่ง ครม. ได้อนุมัติมาตการไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา

3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ได้แก่ การส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้ที่จบใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน โดยขณะนี้มีนักศึกษาจบใหม่ราว 4 แสนคน ส่วนเหตุผลที่เน้นช่วยเหลือนักศึกษาจบใหม่ เนื่องจากเป็นความหวังของครอบครัว

 

ขณะที่ผู้ที่ตกงานในปัจจุบันมีเงินช่วยเหลือบางส่วนจากรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดของมาตาการนั้น กระทรวงแรงงานจะนำกลับมาเสนอ ศบศ.อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ รวมทั้งเตรียมที่จะจัดงานจ๊อบเอ็กซ์โปร เพื่อรวมรวมตำแหน่งงานที่ว่าง ซึ่งขณะนี้มีราว 6-7 แสนตำแหน่งมาเปิดให้ประชาชนได้ร่วมสมัครภายในงานด้วย

และ 4.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมระยะใหม่ และมาตรการเปิดรับผู้ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดมาตรการในระยะเร่งด่วนตามกรอบข้อเสนอมาตรการเศรษฐกิจ รวมทั้งการขอต่ออายุและ/หรือข้อเสนอเพิ่มเติมของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ

 

ซึ่งที่ประชุมมีมติให้การขยายให้ครอบคลุมร้านค้ารายย่อ หาบเร่ แผงลอยด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงร้านค้าขนาดใหฐ่ และกลางที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

เบื้องต้นมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปศึกษารายละเอียดกลับมานำเสนอ รวมทั้งรัฐจะเข้าไปช่วยร้านค้าหาบเร่ แผงลอยในการพัฒนาคิวอาร์โค้ด หรือระบบพร้อมเพย์เพื่อนำมาใช้ในระบบรับชำระเงินด้วย เนื่องจากร้านค้าดังกล่าวไม่มีระบบใบเสร็จรับเงิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง