จุฬาฯ ได้อาสาสมัครกว่า 9,000 คน ทดลองวัคซีนโควิด-19
วันนี้( 23 เม.ย.64) ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการ บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จุฬาฯพัฒนาคิดค้นขึ้น ว่า เตรียมจะนำเข้าวัคซีนจากโรงงานผลิตในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐมเมริกา ประมาณ 1 หมื่นโดส ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อนำมาทดลองฉีดสร้างภูมิคุ้มกันในมนุษย์ ซึ่งตอนนี้ผลิตและบรรจุใส่ขวดพร้อมส่งมอบแล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจาก อย.คาดว่าหากนำเข้ามาแล้วสัปดาห์ที่ 2 จะเริ่มฉีดได้ โดยมีผู้อาสาสมัครเข้ามาแล้วกว่า 9 พันคน แต่จะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ตรงตามเป้าหมาย เช่น สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงวัยหนุ่มสาว/วัยทำงาน 18-55 ปี 36 คน และวัยผู้สูงอายุ 65-75 ปี 36 คน
ส่วนขั้นตอนการทดสอบจะใช้วัคซีนขนาด 10 /25และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่าแต่ละช่วงอายุเหมาะกับวัคซีนขนาดเท่าไหร่ จากนั้นจะติดตามผลว่าภูมิคุ้มกันร่างกายเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยปกติของวัคซีนจะทราบผลภายใน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องฉีด 2 เข็มเช่นกัน
ในส่วนของวัคซีนที่จุฬาฯคิดค้นวิจัย ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับ โมเดอร์น่า และไฟเซอร์ คือ เทคโนโลยี mRNA ที่พัฒนาสำหรับใช้ป้องกันโรคอื่นๆมานานกว่า 10-20 ปีแล้ว ก่อนโควิด-19 จะระบาดและใช้ระบบสร้างวัคซีนแบบใหม่สำหรับฆ่าเชื้อพร้อมป้องกันซึ่งแตกต่างจากระบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ ยังให้ข้อมูลว่า หลังทดสอบและติดตามผลวัคซีนโควิด จุฬา จนเป็นที่น่าพอใจในรุ่นแรก เตรียมผลิตวัคซีนรุ่นที่ 2 ภายใน 3 เดือนข้างหน้า เพราะอยู่ระหว่างเตรียมน้ำยาวัตถุดิบให้พร้อม และจะผลิตในไทย โรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนจะผลิตกี่โดส ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ และประสิทธิภาพจากผลทดสอบ