รีเซต

หนังปลา เทคนิครักษาสัตว์ป่าในบราซิลที่โดนไฟป่า

หนังปลา เทคนิครักษาสัตว์ป่าในบราซิลที่โดนไฟป่า
บีบีซี ไทย
20 ตุลาคม 2563 ( 07:29 )
93
หนังปลา เทคนิครักษาสัตว์ป่าในบราซิลที่โดนไฟป่า
Felipe Rocha
ผู้เชี่ยวชาญรักษาแผลไฟไหม้ที่อุ้งเท้าตัวกินมดด้วยหนังปลา

คำเตือน : บทความนี้มีภาพสัตว์ได้รับบาดเจ็บที่อาจทำให้ผู้อ่านบางคนไม่สบายใจ

นี่ไม่ใช่สัตว์กลายพันธุ์จากภาพยนตร์ไซไฟ ปลายอุ้งเท้าของตัวกินมดที่มีขนเต็มไปหมดถูกปกคลุมด้วยหนังปลา

นี่เป็นวิธีการรักษาสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่แพนทานัล ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกและกินพื้นตั้งแต่บราซิล ไปจนถึงโบลิเวีย และปารากวัย

ไฟป่าได้ทำลายพื้นที่ถึง 27% ของพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สุดในโลกแห่งนี้

นอกจากนี้ แพนทานัลยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยหนาแน่นที่สุดในโลก ทั้งเสือจากัวร์ ตัวกินมด สมเสร็จ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากไฟป่า

หนังปลารักษา

Felipe Rocha
ลูกสมเสร็จได้รับบาดเจ็บจากไฟไหม้ป่า

หนังปลาทิลาเพีย ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด ได้ถูกนำไปใช้รักษาลูกกวางหนึ่งตัว สมเสร็จสองตัว ลูกสมเสร็จหนึ่งตัว ตัวกินมดหนึ่งตัว และงูอนาคอนดา แล้ว และจะนำไปรักษานกกระสาจาบิรู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแพนทานัลต่อไป

"หนังปลาทิลาเพียมีชั้นของคอลลาเจนหนามาก ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการรักษาแผลจากการเผาไหม้" เฟลิปเป รอชชา กล่าว เขาเป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐเซอารา ซึ่งเป็นที่พัฒนาเทคนิคการรักษานี้

ฟาร์มเลี้ยงปลาต่าง ๆ ซึ่งปกติจะไม่ใช้หนังปลาอยู่แล้ว เป็นคนเอาหนังปลามาให้ โดยนักวิจัยจะเอาไปตากแห้ง ทำความสะอาด และเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง หนังปลาเป็นเหมือนการรักษาแผลโดยระบบร่างกายเอง ช่วยให้อาการดีเร็วขึ้น

เหตุระเบิดที่เลบานอน

Felipe Rocha

นักวิจัยใช้เทคนิคนี้รักษาเหยื่อไฟไหม้ในโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว เมื่อเดือน ส.ค. มหาวิทยาลัยรัฐเซอาราส่งหนังปลา 40,000 ตารางเซ็นติเมตร ไปเลบานอนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุระเบิดที่กรุงเบรุตซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 203 ราย และได้รับบาดเจ็บหลายพันคน

พวกเขายังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส ช่วยรักษาหมีที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุไฟป่าที่แคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2018 ด้วย

รอชชาและเพื่อนร่วมงานของเขารู้สึกสะเทือนใจที่เห็นสัตว์ป่าต้องทุกข์ทรมานจากแผลไฟไหม้ จึงเริ่มติดต่อกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อสัตว์ป่า Ampara และโรงพยาบาลสัตว์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐมาโต กรอสโซ ที่เมืองกูยาบา และเริ่มสอนเทคนิคนี้ให้เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาล

รอชชาบอกว่าดีใจมากที่ได้เห็นสัตว์หลายตัวกลับมาหายดี

เจ็บน้อยกว่า

โดยปกติแล้ว สัตวแพทย์จะใช้ครีมทาแผลและต้องวางยาสลบสัตว์ทุกวันขณะเปลี่ยนผ้าพันแผล

"แต่ด้วยหนังปลาทิลาเพีย เราลดต้นทุนการต้องเปลี่ยนผ้าทำแผลทุกวันไปได้ ทำให้สัตว์เจ็บน้อยลง อาศัยแรงงานของเจ้าหน้าที่น้อยลงด้วย" รอชชากล่าว

Getty Images

หนังปลาจะติดแน่นกับแผลไฟไหม้ ทำให้แผลทั้งชื้นและไม่โดนเชื้อโรคด้วย หลังจากแนบแผลด้วยหนังปลาไม่นาน ส่วนที่เป็นสีขาวของหนังปลา ซึ่งเต็มไปด้วยคอลลาเจน จะติดกับตัวแผล ส่วนหนังปลาที่เป็นสีเข้มจะหลุดออกไป และผิวหนังของสัตว์ก็จะกลับไปมีรูปลักษณ์เช่นเดิม

ลูกกวาง

สัตว์ตัวแรกที่ได้รับการรักษาด้วยหนังปลาคือลูกกวางตัวหนึ่ง ต่อด้วยสมเสร็จสองตัว และลูกสมเสร็จอีกหนึ่งตัว รอชชาเล่าว่าสมเสร็จตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บมาก และไม่ยอมกินข้าว หรือเล่นน้ำ

แต่หลังจากใช้หนังปลาแนบที่แผล วันถัดมา สมเสร็จตัวนั้นก็ลงไปเล่นน้ำ

"มันวิ่งขึ้นมาจากน้ำแล้วก็ลงไปใหม่ แม้ว่าเราไม่สามารถเห็นกระบวนการรักษาแผลได้ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงได้จากพฤติกรรมของมัน"

ส่วนที่จะเตรียมรักษาต่อไปเป็นตัวกินมดและงูอนาคอนดาซึ่งผิวได้รับบาดเจ็บมากจนเห็นเนื้อข้างใน

พอใจมาก

Felipe Rocha

รอชชาบอกว่า การได้ช่วยเหลือสัตว์ทำให้รู้สึกพอใจมาก

"เรามีความสุขและตื่นเต้นที่ได้ช่วยเหลือขณะที่ประเทศกำลังเผชิญความเศร้าโศกนี้"

ข้อมูลทางการชี้ว่าแพนทานัลกำลังเผชิญภัยแล้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ไฟป่ามีความรุนแรงมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญบอกอีกว่า การกระทำของมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดไฟป่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล และผู้บริหารรัฐต่าง ๆ ในบราซิล ว่าเข้าจัดการกับปัญหาช้าไป

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง