รีเซต

ชาวอังกฤษนับหมื่นประท้วงต้านราคาพลังงาน-ค่าครองชีพพุ่งสูง

ชาวอังกฤษนับหมื่นประท้วงต้านราคาพลังงาน-ค่าครองชีพพุ่งสูง
TNN ช่อง16
3 ตุลาคม 2565 ( 13:22 )
84


เกิดการประท้วงตามท้องถนนในเมืองใหญ่  ของสหราชอาณาจักรช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ตั้งแต่วิกฤตค่าครองชีพ การขอขึ้นค่าแรง ไปจนถึงเรียกร้องให้มีการปกป้องสภาพภูมิอากาศ 


ขณะที่ผู้นำอังกฤษยอมรับ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา ควรมีการวางรากฐานที่ดีกว่านี้ 


---เกิดการประท้วงในสหราชอาณาจักร---


สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประท้วงเกิดขึ้นในกรุงลอนดอน เอดินบะระ สวอนซี และลิเวอร์พูล เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเป็นการประท้วงที่จัดขึ้นภายใต้แคมเปญ “Enough is Enough” เฉพาะที่กรุงลอนดอนมีผู้มาร่วมชุมนุมราวหนึ่งหมื่นคน


ผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือมากขึ้นจากภาวะราคาสินค้าที่พุ่งสูง ในรูปแบบของการขึ้นเงินค่าจ้าง ลดค่าพลังงาน และเก็บภาษีคนรวย


ทั้งนี้ สำนักข่าว Frace 24 รายงานว่า ผลกระจบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ดันให้ราคาก๊าซและค่าไฟฟ้าสูงขึ้น คาดการณ์ว่าครัวเรือนของอังกฤษจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 20% แม้ว่ารัฐบาลเข้าแทรกแซงโดยการกำหนดเพดานราคาแล้วก็ตาม 


---สหภาพ นัดหยุดงาน---


ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ประท้วงจากกลุ่ม Extinction Rebellion มาร่วมด้วย โดยพวกเขากล่าวว่า ออกมาเดินขบวนเพื่อต่อต้านทั้งปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และวิกฤตค่าครองชีพ


นอกจากนี้ การประท้วงยังเกิดขึ้นชนกับการเริ่มต้นผละงานของสหภาพการรถไฟ การเดินเรือ และการขนส่ง หรือ RMT ด้วย โดยแถลงการณ์ของ RMT ระบุว่า การออกมาเดินขบวนผละงานของสหภาพมีขึ้นระหว่างวันที่ 1-8 ตุลาคม และคาดว่าจะมีสมาชิกสหภาพราว 40,000 เข้าร่วมทั่วประเทศ เพื่อปิดเครือข่ายการคมนาคมทางรางอย่างมีประสิทธิภาพ


RMT ระบุว่า การผละงานครั้งนี้มีขึ้นหลังขาดความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสหภาพกับการรถไฟ ซึ่งการรถไฟล้มเหลวในการตอบสนองความกังวลของพนักงาน เกี่ยวกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และความเสี่ยงที่จะมีการเลิกจ้างครั้งใหญ่เนื่องจากคนล้นงาน


มิค ลินช์ เลขาธิการของสหภาพฯ กล่าวว่า การผละงาน 24 ชั่วโมง 8 วันนั้นมีขึ้นเพื่อพุ่งเป้าไปที่การประชุมประจำปีของพรรคอนุรักษ์นิยมที่เริ่มต้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่เมืองเบอร์มิงแฮม


ลินช์กล่าวว่า สหภาพฯ ไม่ได้ต้องการทำให้สาธารณะชนไม่สะดวกสบาย และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลเป็นผู้ที่ทำให้ยังเกิดการโต้แย้งกันในเรื่องนี้และท้าทายสหภาพ ทั้งลดการจ้างงาน ตัดลดเงินบำนาญและลดค่าแรง ทั้ง  ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ


ด้านการรถไฟของอังกฤษ หรือ Network Rail ระบุว่า มีรถไฟที่ให้บริการได้เพียง 11% เท่านั้นทั่วสหราชอาณาจักรเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา


ทั้งนี้ การผละงานดังกล่าว หมายความว่าจะไม่มีการให้บริการรถไฟระหว่างกรุงลอนดอนกับเมืองหลักต่าง  เช่น เบอร์มิงแฮม แมนเชสเตอร์ และนิวคาสเซิลในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแข่งขัน ลอนดอน มาราธอน เมื่อวันอาทิตย์ (2 ตุลาคมซึ่งมีนักวิ่งจากทั่วโลกเข้าร่วมราว 42,000 คน


---นายกฯ อังกฤษมั่นใจ แผนลดภาษีจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น---


ขณะเดียวกันสำนักข่าว BBC รายงานว่า นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาษีล่าสุดที่มีวงเงิน 4.5 หมื่นล้านปอนด์ หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท และมาจากการกู้ยืมของรัฐบาล จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น 


แต่เธอยอมรับว่า แผนดังกล่าวควรมีการวางรากฐานที่ดีกว่านี้ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นผู้ตัดสินใจในการลดภาษีให้แก่ผู้มีรายได้สูง โดยที่ไม่ได้มีการหารือกับคณะรัฐมนตรีเต็มคณะล่วงหน้า

 

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษยังมีโครงการระยะเวลาสองปีที่จะควบคุมราคาพลังงานในช่วงหกเดือนแรก ซึ่งมีมูลค่าราว 60,000 ล้านปอนด์ หรือราว 2.5 ล้านล้านบาท ด้วย


การประกาศของรัฐบาลทำให้ตลาดการเงินผันผวน และเงินปอนด์ร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า แผนการตัดลดภาษีนั้นเป็นการช่วยคนที่รวยอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยผู้ที่เผชิญปัญหาค่าครองชีพสูงตัวจริง และจะยิ่งดันเงินเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งสูงขึ้น


เรื่องดังกล่าวจึงเป็นประเด็นหลักของการประชุมประจำปีของพรรคอนุรักษ์นิยมของทรัสส์ที่เมืองเบอร์มิงแฮม โดยทรัสส์ให้สัญญาว่า จะเอาชนะใจและความคิดของบรรดาส..ของพรรคให้ได้ 


ขณะเดียวกัน เรเชล รีฟส์ รัฐมนตรีเงากระทรวงการคลังจากพรรคแรงงาน กล่าวหารัฐบาลว่า กำลังทำการทดลองที่บ้าคลั่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ และความปั่นป่วนของตลาดนั้นเป็นวิกฤตที่รัฐบาลอังกฤษสร้างขึ้น 


สาธารณชนจะได้รับความเสียหายจากความวุ่นวายนี้ และทรัสส์นั้นล้มเหลวในการทำความเข้าใจความกังวลและความกลัวเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจ

—————

แปล-เรียบเรียงธันย์ชนก จงยศยิ่ง 

ภาพ: Reuters


ข่าวที่เกี่ยวข้อง