SEAMEO เล็งปฏิรูปพัฒนาครูยกระดับการศึกษาอาเซียน
ดร. สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การประชุมระหว่างองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) กับกระทรวงศึกษาธิการประเทศสมาชิกซีมีโอ และกระทรวงศึกษาธิการไทย ภายใต้เชื่อ SEAMEO Congress 2021 เมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 9,500 คน จาก 11 ประเทศสมาชิกซีมีโอ
สำหรับหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการ “ปฏิรูปการพัฒนาครู” เพื่อยกระดับการศึกษาอาเซียน นำสู่การเสวนาต่อเนื่องในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ Chevron – SEAMEO Policy Advocacy for Streng thening Regional STEM Education Project เพื่อสังเคราะห์แนวทางขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษา สร้างโมเดล Teacher Development ที่ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกันทั้งระบบ คือ หลัก สูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพครู แนวทางการปรับวิทยฐานะ และการสนับสนุนด้านวิชาการ
ทั้งนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งด้านองค์ความรู้และกำลังคนเพื่อก้าวข้ามวิกฤตด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาต้องมุ่งเน้นการพัฒนาครูและสนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่ครูและผู้นำโรงเรียนอย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอโดยเฉพาะหลักฐานงานวิจัยเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายได้ใช้ประโยชน์ผลักดันในเชิงนโยบาย อีกทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสะเต็มศึกษาในโรงเรียน
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด กล่าวว่า กระบวนการที่ศูนย์ฯ เร่งนำเสนอคือโมเดล Teacher Development ที่มีความสำเร็จจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบของการพัฒนาครู คือ 1. ร่วมมือกับสถาบันผลิตครูและเครือข่ายครู เตรียมความพร้อมบุคลากรที่จะเข้าสู่วิชาชีพครู หรือ ครูฝึกสอน และพัฒนาศักยภาพครูประจำการในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตรแบบ non-degree เน้นลงมือปฏิบัติจริง
2. สนับสนุนให้ครูร่วมกันปรับวิธีจัดการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ที่สอดคล้องแนวทางประเมินวิทยฐานะครู อันมีงานวิจัยทั่วโลกสนับสนุนว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน อีกทั้งผู้นำการศึกษาขานรับว่า ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียน
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ Chevron Enjoy Science เข้าสู่การดำเนินงานระยะที่สองและประสบความสำเร็จในการทำโมเดลเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษา ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาให้กับกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ล่าสุดได้ขยายความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคจัดอบรมหลักสูตรพิเศษ 1 ปีให้แก่ครูประจำการ โดยเชฟรอนฯ ให้การสนับสนุนทุนจำนวน 70 % ให้แก่ครูที่เข้าอบรมในหลักสูตร ตลอดจนเตรียมนำ Best Practice ในโครงการฯ ไปถ่ายทอดยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่เชฟรอนฯ ดำเนินงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงจัง