รีเซต

ส.ป.ก.ลุยแก้หลักเกณฑ์-ดึงอำนาจอนุมัติขอใช้พื้นที่คืน หวังมาตรฐานเดียว ไม่เอื้อนายทุน

ส.ป.ก.ลุยแก้หลักเกณฑ์-ดึงอำนาจอนุมัติขอใช้พื้นที่คืน หวังมาตรฐานเดียว ไม่เอื้อนายทุน
มติชน
13 พฤศจิกายน 2563 ( 15:46 )
116
ส.ป.ก.ลุยแก้หลักเกณฑ์-ดึงอำนาจอนุมัติขอใช้พื้นที่คืน หวังมาตรฐานเดียว ไม่เอื้อนายทุน

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่เกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยถึงประเด็นที่ประชาชนและหลายฝ่ายมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกหลักเกณฑ์ตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ที่เซ็นอนุมัติโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการ ส.ป.ก. ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ว่า เดิมประกาศรัฐมนตรีฯ ในปี 2533 และ 2543 คปก. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) เป็นผู้พิจารณาอนุญาตตามคำขอของประชาชน ซึ่งเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น ในแต่ละ 72 จังหวัดทั่วประเทศ จะมีดุลพินิจไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ใช้ดุลพินิจเกินวัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน ส.ป.ก. และมีความไม่ชัดเจนในรายละเอียดบางข้อ ส่งผลให้แต่ละพื้นที่มีปัญหาที่หลากหลาย ดังนั้น ส.ป.ก. จึงต้องการแก้ไขประกาศคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

“การแก้ไขประกาศฯ ในครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ต้องการให้การแก้ไขในครั้งนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และมีการกำหนดขอบเขตในการอนุมัติอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ทาง ส.ป.ก.ได้ดึงอำนาจในการตัดสินใจของคปจ. กลับมาแล้ว เพราะฉะนั้น อำนาจในการตัดสินใจในการอนุมัติการขอใช้พื้นที่จะเป็นอำนาจการตัดสินใจจากคณะกรรมการ ส.ป.ก. ที่รัฐมนตรีว่าการ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และไม่เอื้อประโยชน์ต่อนักการเมือง นายทุน หรือใครทั้งสิ้น ทุกขั้นตอนโปร่งใสตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ อีกทั้งระหว่างนี้ อยู่ระหว่างหารือกับมูลนิธิกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงกฏหมายส.ป.ก.ให้ทันสมัย เข้ากับสถานการณ์ ที่เปลี่ยนไปทั้งพื้นที่และสังคม คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือเสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน 2564” นายวิณะโรจน์ กล่าว

 

นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า สำหรับกิจการตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย กิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 1.1 กิจการทางวิชาการเกษตร การสาธิต การทดลองเพื่อประโยช์ทางการเกษตร 1.2 กิจการที่ส่งเสริมหรือประกันราคาพืชผลการเกษตร หรือลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร 1.3 กิจการที่เป็นข้อตกลงร่วมกับ ส.ป.ก.ในการดำเนินการผลิตและจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร 1.4 กิจการที่เป็นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตการจำหน่าย และการตลาดให้เกิดผลดียิ่งขึ้น 1.5 กิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศราบกิจและสังคมในเขตดำเนินการปฎิรูปที่ดินซึ่งกิจการนั้นต้องอยู่ในพื้นที่ที่ คปก. กำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ประกอบด้วย 12 รายการ อาทิ กิจการปั๊มน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และกิจการที่อยู่อาศัย ประเภทที่พัก หอพัก ซึ่งทุกกิจการต้องเป็นกิจการที่ให้ความสะดวกต่อเกษตรกรเท่านั้น

 

นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของข้อกำหนดที่ 1.5 เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดว่า สามารถสร้างหอพักในพื้นที่ส.ป.ก.ได้หรือไม่ นั้น ขณะนี้บ้านเมืองและชุมชนขยายกว่าอดีตมาก เมื่อปี 2536 มีชุมชนอยู่ประมาณ 5,000 แห่ง แต่ขณะนี้มีมากกว่า 10,000 แห่ง มีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.กว่า 2.9 ล้านคน ต้องเข้าไปดูการเติบโตของชุมชน ว่า การมีบ้าน รีสอร์ท หรือหอพัก เข้าเกณฑ์กิจการต่อเนื่องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรหรือไม่ สมมุติว่า มีการทำสวนยางพารา จำเป็นต้องมีบ้านพัก หอพัก เพื่อให้เกษตรกร คนกรีดยางอยู่ ถือว่าหอพักนั้นเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องกับเกษตร ส่วนหอพักนักศึกษา ต้องเข้าไปดูว่าหอพักเหล่านั้น ทำเพื่อให้ลูกหลานเกษตรกรอยู่หรือไม่ ทั้งหมดในรายละเอียดนี้ต้องนำกลับไปหารือใน คปก.อีกครั้ง เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติ

 

“กรอบปฏิบัติยังต้องใช้ ดุลพินิจของ คปก. แต่ต้องว่ากันตามกฏหมาย เข้าเกณฑ์ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ก็สามารถทำได้ อาทิ การทำโฮมสเตย์ เล็กๆ ที่ปลูกผักในพื้นที่ ทำเกษตรเพื่อป้อน โฮมสเตย์นั้นๆ ก็สามารทำได้ เพราะเข้าเกณฑ์ ทำกิจการเกี่ยวเนื่องการเกษตร” นายวิณะโรจน์ กล่าว

 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง