รีเซต

ผลวิจัยชี้ติดเชื้อโควิดกระตุ้นการอักเสบเซลล์ในสมองคล้าย "โรคสมองเสื่อม"

ผลวิจัยชี้ติดเชื้อโควิดกระตุ้นการอักเสบเซลล์ในสมองคล้าย "โรคสมองเสื่อม"
TNN ช่อง16
2 พฤศจิกายน 2565 ( 08:41 )
50
ผลวิจัยชี้ติดเชื้อโควิดกระตุ้นการอักเสบเซลล์ในสมองคล้าย "โรคสมองเสื่อม"

ผลการศึกษานี้ชี้คนที่ติดเชื้อและประสบปัญหา Long COVID โดยมีอาการผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาท ก็อาจเกิดจากกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้น และอาจส่งผลระยะยาวทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสมองเสื่อมได้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า 2 พฤศจิกายน 2565... เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 166,009 คน ตายเพิ่ม 357 คน รวมแล้วติดไป 635,423,773 คน เสียชีวิตรวม 6,593,611 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.47 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.27

...อัพเดต Long COVID

"การติดเชื้อโควิดกระตุ้นการอักเสบของเซลล์ในสมองคล้ายโรคสมองเสื่อม"

Albornoz EA และทีมงานจากมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เผยผลการวิจัยในห้องทดลองพบว่า ไวรัสโควิด-19 นั้นหากมีการติดเชื้อในเซลล์สมอง (microglia) ของมนุษย์ จะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบคล้ายกับที่พบในโรคอัลไซเมอร์ และพาร์คินสัน 

ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่คนที่ติดเชื้อและประสบปัญหา Long COVID โดยมีอาการผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาท ก็อาจเกิดจากกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้น และอาจส่งผลระยะยาวทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสมองเสื่อมได้ 

อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจกลไกข้างต้น ก็จะนำไปสู่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาที่จะใช้รักษาภาวะดังกล่าวต่อไปในอนาคต

"ปัญหา Long COVID จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบสุขภาพของแต่ละประเทศ"

Al-Aly E และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทความวิชาการย้ำให้เห็นผลกระทบของการระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 ในแต่ละประเทศว่าจะส่งผลให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา อาทิ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางสมองและระบบประสาท โรคเบาหวาน รวมถึงโรคไต โดยมีการยกตัวอย่างผลการวิจัยที่เคยประเมินอัตราการกรองของไตในผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยมีอาการเล็กน้อยนั้นพบว่า หลังจากติดเชื้อ 1 ปี พบว่ามีอัตราการกรองของไตลดลงมากกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อ โดยเทียบเท่ากับการเสื่อมลงตามอายุปกติราว 4 ปี

ด้วยข้อมูลจากการวิจัยทางการแพทย์ต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าต้องตระหนักถึงปัญหา Long COVID โดยคนที่ติดเชื้อมาก่อน ก็ควรระมัดระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ และหมั่นดูแลตรวจตราสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องจำเป็น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลดความเสี่ยงของ Long COVID ด้วย

เหนืออื่นใดคือ ประชาชนควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

1. Albornoz EA et al. SARS-CoV-2 drives NLRP3 inflammasome activation in human microglia through spike protein. Molecular Psychiatry. 1 November 2022.

2. Al-Aly E et al. Long COVID: long-term health outcomes and implications for policy and research. Nature Review Nephrology. 1 November 2022.


ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก  AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง