รีเซต

เปิดรายชื่อ 10 แบรนด์ค้าปลีกอเมริกันยักษ์ใหญ่ “ล้มละลาย” ในช่วง 5 ปี

เปิดรายชื่อ 10 แบรนด์ค้าปลีกอเมริกันยักษ์ใหญ่ “ล้มละลาย” ในช่วง 5 ปี
TNN ช่อง16
11 มกราคม 2566 ( 08:44 )
59

“เบด บาธ แอนด์ บียอนด์” (Bed Bath & Beyond) เครือข่ายค้าปลีกสินค้าภายในบ้านรายใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นบริษัทล่าสุดที่ออกมาระบุว่า กำลังเตรียมพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ รวมถึงการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กฎหมายล้มละลาย เพื่อแก้ปัญหายอดขายที่ย่ำแย่และภาระหนี้สินจำนวนมาก 

โดยหาก “เบด บาธ แอนด์ บียอนด์” ยื่นล้มละลาย ก็จะเป็นการเพิ่มรายชื่อบริษัทค้าปลีกที่มีชื่อเสียงที่ไม่อาจเลี่ยงชะตากรรมล้มละลาย หลังจากต้องเผชิญความยากลำบาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด รวมทั้งต้องแข่งขันกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่และพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรวบรวมข้อมูลการล้มละลายครั้งใหญ่สุดในวงการค้าปลีก อีก 9 แห่ง ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ “แอสซีนา รีเทล กรุ๊ป” (Ascena Retail Group) บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าสตรี เจ้าของแบรนด์แอนน์ เทย์เลอร์, เลน ไบรอันต์ และลอฟต์ ที่มีสาขา 2,800 แห่ง และมีหนี้สิน 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กฎหมายล้มละลาย มาตรา 11 เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2563 

“เซียร์ส โฮลดิ้งส์ คอร์ป” (Sears Holdings Corp) ที่เคยเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่สุด และมีอายุเก่าแก่ 125 ปี ต้องยื่นล้มละลายเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2561 หลังรายรับลดลงมานานนับทศวรรษและต้องปิดสาขา 700 แห่ง รวมทั้งมีหนี้สินเกือบ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ 

ห้างสรรพสินค้า “เจ.ซี. เพนนี” (J.C. Penney) ยื่นล้มละลายในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 หลังจากดำเนินการมานานกว่าศตวรรษ มีจำนวนสาขา 846 แห่ง และมีภาระหนี้ที่สูงถึง 7.16 พันล้านดอลลาร์ 

“ทอยส์ อาร์ อัส” (Toys "R" Us) เครือร้านขายของเล่นใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ยื่นล้มละลายเมื่อปลายปี 2560 โดยมีภาระหนี้ 8.07 พันล้านดอลลาร์ และมีสาขา 1,600 แห่ง นับเป็นการล้มของธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่สุดในสหรัฐฯ โดยแยกตามสินทรัพย์ นับตั้งแต่กรณีของ “เคมาร์ต” ในปี 2545

“นีแมน มาร์คัส” (Neiman Marcus) เครือข่ายห้างสรรพสินค้าหรูอายุ 113 ปีรายนี้มีภาระหนี้ 6.79 พันล้านดอลลาร์ และต้องยื่นล้มละลายเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2563 จากการต้องหยุดดำเนินงานในช่วงวิกฤตโควิด 

“เจ. ครูว์ กรุ๊ป” บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า ที่ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2563 โดยมีหนี้ 2.95 พันล้านดอลลาร์ จากวิกฤตโค

“เทย์เลอร์ แบรนด์ส” (Tailored Brands) เจ้าของธุรกิจชุดทักซิโด้และสูท “เมนส์ แวร์เฮ้าส์” ที่มีสาขา 1,400 แห่ง ยื่นล้มละลายในเดือนสิงหาคม ปี 2563 โดยมีหนี้ 2.84 พันล้านดอลลาร์ 

“แคลร์ส สโตร์” (Claire's Stores) ผู้ค้าปลีกเครื่องประดับที่มีสาขา 1,600 แห่ง ยื่นล้มละลายในเดือนมีนาคม ปี 2561 หลังมีหนี้ 2.52 พันล้านดอลลาร์ เพราะยอดขายที่ลดลงจากการซื้อสินค้าออนไลน์ 

“ไนน์ เวสต์ โฮลดิ้งส์” บริษัทแฟชั่นเจ้าของแบรนด์ “แอนน์ ไคลน์” มีหนี้ 1.94 พันล้านดอลลาร์ ยื่นล้มละลายในเดือนเมษายน ปี 2661 เนื่องจากการแข่งขันจากช่องออนไลน์ และพ้นสถานะล้มละลายแล้วพร้อมกับใช้ชื่อใหม่ “พรีเมียร์ แบรนด์ส” 


ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE

ที่มาภาพ : TNN 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง