รีเซต

ประวัติ วันอานันทมหิดล 9 มิถุนายน วันพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย

ประวัติ วันอานันทมหิดล 9 มิถุนายน วันพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย
TrueID
9 มิถุนายน 2566 ( 10:13 )
2K
ประวัติ วันอานันทมหิดล 9 มิถุนายน วันพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย

ประวัติ "วันอานันทมหิดล" 9 มิถุนายน "ต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน" นั่นคือพระราชปณิานของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ ซึ่งเปรียยเสมือนพระบิดาแห่งการแพทย์ไทย วันนี้ trueID รวบรวมข้อมูลของวันนี้มาให้ทุกท่านได้รับทราบกัน

 

ประวัติวันอานันทมหิดล


วันอานันทมหิดล ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญ กล่าวคือเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงดำริที่จะจัดงาน วันอานันทมหิดลขึ้นเป็นประจำทุกปี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์และการศึกษา เพื่อเป็นการเผยแผ่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนเป็นการเฉลิมพระเกียรติล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8 ให้พสกนิกรได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์สืบไป

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ก่อตั้ง "มูลนิธิอานันทมหิดล" ขึ้น เพื่อสนับสนุนนักเรียนไทย ผู้มีความสามารถทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยม มีคุณธรรมสูง ได้มีโอกาสไปศึกษาวิทยาการ จนถึงขั้นสูงสุดในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์ พัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้าต่อไป โดยมูลนิธินี้ไม่มีการสอบคัดเลือก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะสรรหา ผู้สมควรได้รับพระราชทานทุน นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชี้ขาด

 

นอกจากนี้ในวันอานันทมหิดลยังได้ถือเป็นวันสำคัญของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีกิจกรรมได้แก่ พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์และพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เช่นเดียวกัน

 

 

(ด้านหน้า จากขวามาซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช; สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงฉายระหว่างการเสด็จนิวัตพระนครเมื่อปี พ.ศ. 2481 (ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) / สาธารณสมบัติ

 

พระราชประวัติขณะทรงพระเยาว์

 
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นพระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดิลแบร์ค สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) ขณะที่สมเด็จพระราชชนกทรงศึกษาการแพทย์ที่ประเทศเยอรมนี โดยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล โดยสมเด็จพระราชชนนีทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท พระองค์ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐ ซึ่งสมเด็จพระราชชนกทรงเข้าทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ประทับ ณ วังสระปทุม ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ดังนั้น พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว

 

พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปทรงศึกษาที่โรงเรียน "เอกอลนูแวลเดอลาซืออิสโรมองต์" และทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ

 

การเสด็จสวรรคต


ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่ 2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติอยู่เป็น เวลา 12 ปีเท่านั้น

 

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / CC BY-SA 4.0



ปวงชนชาวไทยต่างรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการจึงร่วมใจน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันอานันทมหิดล" ในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ทุกรุ่นจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นไว้ หน้าตึกอานันทมหิดลคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป

 

 

อาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / CC BY 3.0

 

มูลนิธิอานันทมหิดล

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทุนอานันทมหิดลขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระองค์มีพระราชดำริที่จะพระราชทานทุนให้นักทรงศึกษาผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม ไปทรงศึกษาต่อให้ถึงระดับความรู้ชั้นสูงสุดยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศชาติและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หลังจากนั้น ได้จัดตั้งขึ้นเป็น มูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 เดิมทุนนี้จะพระราชทานให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ แต่เมื่อความต้องการผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น ๆ มีเพิ่มมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาอื่น ๆ ปัจจุบัน การพระราชทานทุนนั้นสามารถแบ่งออกเป็นแผนกต่าง ๆ ได้ ดังนี้ แผนกแพทยศาสตร์ แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกวิศวกรรมศาสตร์ แผนกเกษตรศาสตร์ แผนกธรรมศาสตร์ แผนกอักษรศาสตร์ แผนกทันตแพทยศาสตร์ และแผนกสัตวแพทยศาสตร์

 

กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเนื่องในวันอานันทมหิดล

  1. พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรซึ่งประดิษฐานหน้าอาคาร "อานันทมหิดล" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ของ คณาจารย์ แพทย์ พยาบาล นิสิตแพทย์และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
  3. พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ อาคารวชิรญาณวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  4. การจัดทำเข็มกลัดที่ระลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล เพื่อออกรับบริจาคโดยนิสิตแพทย์ รายได้สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลและช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  5. การจัดการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์เนื่องในวันอานันทมหิดล ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  6. การจัดงานเสวนาเนื่องสัปดาห์วันอานันทมหิดล
  7. กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

 

ข้อมูล : wikipedia , มิวเซียมสยาม

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง