รีเซต

สธ.เผย ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ภูมิขึ้นสูงป้องกันเดลต้าได้ 94%

สธ.เผย ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ภูมิขึ้นสูงป้องกันเดลต้าได้ 94%
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2564 ( 12:39 )
126
สธ.เผย ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ภูมิขึ้นสูงป้องกันเดลต้าได้ 94%

วันนี้ (21 ต.ค.64) ที่กรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ระบุถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดมีการฉีดเพิ่ม 915,956 โดส ทำให้ยอดสะสมการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 68,503,058 โดส เข็ม1 ฉีดไปแล้ว 39,039,849 ราย เข็ม 2 ฉีดไปแล้ว 27,405,800 ราย และเข็ม 3 ฉีดไปแล้ว 2,057,409 ราย ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย โดยอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนพื้นที่ที่มีความจำเพาะนำร่องในการท่องเที่ยว การฉีดวัคซีนได้ตรงตามเป้าหมาย คาดว่าสิ้นปี 2564 ประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุม 100 ล้านโดส โดยวันนี้วัคซีนไฟเซอร์ เข้ามาเพิ่มอีก 1.5 ล้านโดส ขณะที่วัคซีนซิโนแวคเหลืออีก 2 ล้านโดส จะทยอยเข้ามาในเดือนตุลาคมนี้

ขณะที่ ความคืบหน้าจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่ได้ประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนสมาคมวิชาชีพหลากหลาย เช่น สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มีความเห็นตรงกันและแนะนำให้เด็ก 12-18 ปี รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม 


โดยสมาคมโรคติดเชื้อเด็กและสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้รายงานผลการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในเด็กวัยรุ่นไทย 12-18 ปี พบว่า ต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม จึงจะมีระดับภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยผลการฉีด 1 เข็ม ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ ซึ่งมีระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดไม่ถึงระดับที่ป้องกันโรคได้ สอดคล้องกับผลการทบทวนประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ของวัคซีนไฟเซอร์ในผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 94 และหากฉีดเข็มเดียวภูมิคุ้มกันเหลือเพียงร้อยละ 52 

ส่วนการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กของประเทศไทย พบน้อยมาก มีเพียง 10 ราย จากที่มีการฉีดไปแล้วกว่า 2,000,000 ราย ทุกรายมีอาการไม่รุนแรง และรักษาหายเป็นปกติเกือบทั้งหมด ซึ่งมีอัตราต่ำกว่าในต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม หากเด็กติดเชื้อโควิดโอกาสที่จะเกิดกลุ่มอาการมิสซี และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการติดเชื้อโควิดมีมากกว่ารับวัคซีนไฟเซอร์ และฟื้นตัวช้ากว่า 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 ต่างชนิดกัน ซึ่งไทยได้มีการดำเนินการไปแล้ว สอดคล้องกับคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ซึ่งเห็นชอบให้ประเทศไทยมีการกระตุ้นเข็ม 3 ในรูปแบบต่างชนิดกัน หลังรับวัคซีนเชื้อตายไปแล้ว เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 

ส่วนคนที่ฉีดวัคซีนซีโนฟาร์ม 2 เข็มไปแล้วนั้น เมื่อวานนี้ได้มีการหารือกับทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำในหลักการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ ซึ่งในกลุ่มนี้จะเริ่มรับวัคซีนเข็มที่ 3 ได้ปลายเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ซึ่งขอให้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้แจงข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นทางการกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนประกาศให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้ารับวัคซีน 


ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศแนวโน้มผู้ป่วยอาการหนักลดลงผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบอยู่ 2,687 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 603 ราย โดยแนวโน้มการระบาดกรุงเทพฯและปริมณฑล สอดคล้องกับสถานการณ์ที่หลายภาคส่วนได้ช่วยกันในการควบคุมโรค 

ส่วนที่ต้องจับตาคือสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด โดยมีการจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า เพื่อดูเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยเฉพาะ และการทยอยจัดส่งวัคซีนโควิดโดยสัปดาห์นี้จะทยอยส่งวัคซีนไปเพิ่มอีก 500,000 โดส รวมเป็น1 ล้านโดส และบางจังหวัดที่ต้องเฝ้าจับตาการแพร่รับาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น จ.นครศรีธรรมราช จ.ตาก จ.ระยอง จ.จันทบุรี 

โดยพบว่าการแพร่ระบาด ยังเป็นการแพร่กระจายในชุมชน และเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องจากการรวมกลุ่มกัน เช่น งานสังสรรค์ และงานประเพณี พิธีทางศาสนา เช่น งานศพ หลายพื้นที่มีการติดเชื้อในโรงงาน สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ตลาด 

ขณะที่ ผู้เสียชีวิต ร้อยละ 94 เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวนอกจากการป้องกันการฉีดวัคซีนจึงเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯลดลงต่ำกว่าพันราย

ภาพจาก TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง