ศบค. เปิด koncovid.com รวมสถานที่ตรวจโควิดทั่วประเทศ พร้อมเช็กราคา
วันนี้ (5 ส.ค.64) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน ตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนชุดตรวจ Antigen Test Kits (ATK) ให้ใช้ได้ 2 แบบ ได้แก่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เฉพาะใช้ในสถานพยาบาล และชนิดที่ประชาชนซื้อมาตรวจได้ด้วยตัวเอง โดยปัจจุบันได้รับอนุมัติจากอย. แล้ว 19 รายการ ทั้งนี้การเลือกซื้อต้องซื้อจากร้านขายยาและสถานพยาบาลเท่านั้นไม่อนุญาตให้ซื้อออนไลน์และร้านสะดวกซื้อ
นอกจากนี้ชุดทดสอบ 19 ชุดที่ผ่านการประเมินจากอย. ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นชุดทดสอบแอนติเจนหรือแอนติบอดี้ ซึ่งที่ประชาชนซื้อมาใช้เองได้ต้องเป็นแอนติเจนเท่านั้น รวมถึงต้องดูวิธีการเก็บตัวอย่างเชื้อด้วย โดยหากเป็นการเก็บตัวอย่างจากโพรงหลังจมูกจะเป็นการเก็บที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้เอง ให้ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ขณะที่สำหรับประชาชนใช้เองเป็นการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก โดยการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมุกปัจจุบันผ่านอย. แล้ว 17 ยี่ห้อ ควรใช้การเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องด้วย แนะนำดูวิดีโอสาธิตได้ที่เว็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอย้ำประชาชนเลือกชนิดให้ถูกต้องและได้มาตรฐาน ที่อย. รับรอง เพื่อผลการตรวจที่ถูกต้อง
สำหรับกลุ่มที่ควรจะตรวจกลุ่มที่มีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ (PUI Case) ซึ่งในกลุ่มนี้ พบผู้ป่วยในกทม. ราว 25% ของการตรวจ กลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย ประวัติเดินทางในพื้นที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในโรงงาน, ขายของในตลาด, ส่งอาหาร ซึ่งหากผลตรวจเป็นลบ อาจจะเป็นผลลบลวงได้ เพราะพบราว 13% ที่ตรวจด้วย ATK แล้วเป็นลบ แต่ตรวจ RT-PCR แล้วพบเชื้อ
ดังนั้นผู้ที่เสี่ยงแม้ตรวจไม่พบ ขอให้กักตัว และตรวจซ้ำใน 2-3 วัน ซึ่งอาจจะเกิดจากเชื้อยังน้อย ทำให้ชุดตรวจไม่ไวพอที่จะตรวจพบได้ ผลการตรวจ ATK ในกทม. มีบางครั้งที่พบผลบวกสูงถึง 20% หากพบผลเป็นบวก อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ให้ลงทะเบียนเข้าระบบก่อน หรือหากตรวจที่ รพ./สถานบริการ ให้ประสานกับที่จุดตรวจก่อน กรณีตรวจที่อื่น ติดต่อ 1330 หรือ ลงทะเบียนผ่าน https://crmsup.nhso.go.th
สำหรับประชาชนที่ต้องการตรวจ antigen test kit ตามสถานพยาบาล ศบค.ร่วมกับจิตอาสา Tech For Thailand ให้บริการเว็บไซต์ koncovid.com ตรวจสอบที่ให้บริการตรวจโควิด-19 ได้ทั่วประเทศ โดยพิมพ์รหัสไปรษณีย์หรือกดไปที่จุดสีบนแผนที่แล้วสถานที่ตรวจจะปรากฏ รวมถึงรายละเอียดและราคา
อย่างไรก็ตาม แต่ละรพ. อาจมีภาระในการตรวจอยู่แล้วจากกรณีต่างๆ เช่น คลอดลูก ผ่าตัด ดังนั้นบางรพ. อาจไม่สามารถให้วอล์คอินหรือปฏิเสธได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้โทรไปสอบถามจากรพ. หรือแล็บต่างๆก่อน ทั้งนี้เมื่อได้รับผลตรวจ antigen test kit เป็นบวก กรมการแพทย์แนะนำว่าไม่ต้องรีบออกไปสถานพยาบาลโดยให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ โดยกรณีไปตรวจจากคลินิก หรือ แล็บ ให้ติดต่อ 1330 เบอร์เดียวเท่านั้น
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ขอย้ำเบอร์หลักสำหรับผู้ติดเชื้อติดต่อคือ 1330 ส่วนเบอร์ 1669 ขอสงวนไว้สำหรับสายด่วนช่วยชีวิตเป็นหลัก เพื่อลดความหนาแน่น ให้ผู้ป่วยสีแดงเข้าระบบได้เร็วขึ้น โดยผู้ป่วยโควิดที่ติดต่อ 1330 ให้เตรียมเลขบัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ สำหรับติดต่อ, ส่งยา ฯลฯ เตรียมผลการตรวจไว้ในมือ ซึ่งจะช่วยร่นเวลาในการติดต่อได้เร็วขึ้น
ระบบจะมีการจับคู่สายกับศูนย์บริการให้อัตโนมัติ ระบบจะส่งข้อมูลเข้าระบบ ที่จะจับคู่ผู้ป่วย-ศูนย์บริการให้ ภายใน 24 ชม. จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ สำหรับผู้ป่วยสีเขียว = แยกกัก, สีเหลือง-แดง = จะเร่งจัดหาเตียงให้ทันที
ส่วนผู้ที่เข้า Home isolation จะได้รับชุดเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วย สำหรับยาฟาวิพิลาเวียร์ จะมีการประเมินอาการก่อนจ่ายให้ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่แข็งแรง ไม่จำเป็นต้องรับยาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ย้ำว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้าน ก็จะส่งตัวไปยัง Community Isolation แทน ในกทม. มีเร่งดำเนินการเพิ่มเติมต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่กักตัว นอกจากประเมินสุขภาพร่างกายแล้ว สามารถประเมินสภาพจิตใจ ได้ที่ https://checkin.dmh.go.th