จับตา! 3 ปัจจัยหลักหลังสงกรานต์ อาจทำยอดโควิดในไทยเพิ่มสูงขึ้น
วันนี้ (21 มี.ค.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า 21 มีนาคม 2565
คาดว่าระบาดของไทยในช่วงหลัง 10 มีนาคมเป็นต้นมานั้น slope การลงน่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ ดังเช่นธรรมชาติที่เห็นจากหลายประเทศทั่วโลกที่ขาลงจะนาน
แต่น่าจะมีโอกาสเห็นการถีบตัวขึ้นราวกลางสัปดาห์ที่ 4 ของเมษายนเป็นต้นไป อันมีอิทธิพลมาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่
หนึ่ง หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีการแพร่เชื้อติดเชื้อกันมากขึ้น เป็นไปตามธรรมชาติระบาดไทยตลอดปีกว่าที่ผ่านมา ทุกครั้งหลังเทศกาล
สอง อัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังน้อย อยู่ระดับ 30+%
สาม ผลจากสมรรถนะของ BA.2 ที่แพร่ได้ไวกว่า BA.1 และตอนนี้ครองสัดส่วนการระบาดมากขึ้นในประเทศไทย เฉกเช่นเดียวกับทวีปยุโรปและอื่นๆ
คล้ายกับระลอกสามในปีที่แล้ว ที่เจออัลฟ่าต่อด้วยเดลต้าในระลอกเดียวกัน
ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากสหราชอาณาจักร ซึ่งตอนนี้มีการติดเชื้อสูงขึ้นเร็ว พบว่า อาการจาก BA.2 นั้นกลับมาเด่นในเรื่องน้ำมูกไหล (runny nose) ราว 80.75% ตามมาด้วยปวดหัว อ่อนล้าอ่อนเพลีย เจ็บคอ และคัดจมูก ในระดับพอๆ กันคือ 70% ในขณะที่ไอ หรือเสียงแหบ มีราวครึ่งหนึ่ง
ส่วนเรื่องไข้จะเจอเพียงหนึ่งในสาม
ยังไงคงต้องรอข้อมูลทางการอีกที แต่การรับทราบไว้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเราแต่ละคน เพื่อจะได้สังเกตอาการตนเอง สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน ให้ฉุกคิดถึงโควิด-19 ไว้เสมอหากมีอาการดังกล่าว เพื่อไปตรวจรักษา และรีบแยกห่างจากคนใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อติดเชื้อ
...อีก 2 เรื่องสำคัญที่ควรติดตามคือ ตามเงื่อนเวลาแล้วภาวะ Long COVID ควรจะปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการระบาดใหญ่ตลอดปีก่อน ตั้งแต่ระลอกสายพันธุ์ G สายพันธุ์อัลฟ่า และสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้นหากใครเคยติดเชื้อมาก่อน และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย อารมณ์ หรือสภาพจิตใจ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจและดูแลรักษา
แต่สำหรับระลอกสายพันธุ์ Omicron นั้น คาดว่าจะมีคนติดเชื้อจำนวนมากกว่าทุกระลอกที่ผ่านมา เชื่อว่าในช่วงกลางปีนี้ไป งานวิจัยเกี่ยวกับ Long COVID จาก Omicron น่าจะทยอยออกมากันมากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจธรรมชาติของโรค ดังนั้นตราบใดที่เรายังไม่รู้เรื่องนี้ ต้องไม่ประมาท
ป้องกันตัวอยู่เสมอ เป็นกิจวัตร
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ภาพจาก AFP