โซนิคบูม คืออะไร อันตรายหรือไม่ ? เกิดอะไรขึ้นที่สุราษฎร์ธานี
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2024 เวลาประมาณ 17.00 น. มีรายงานว่าเกิดเสียงดังสนั่น จนหลาย ๆ คนคาดว่าอาจเป็นเสียงที่เกิดจากโซนิคบูม (Sonic Boom) ในหลายพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเสียงดังกล่าวนี้มีต้นเหตุมาจากอะไร โดยหลาย ๆ หน่วยงานกำลังตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ตาม รู้หรือไม่ว่า โซนิคบูมหมายถึงอะไร และเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ ? มาหาคำตอบกัน
โซนิคบูมคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
โซนิคบูมเกิดขึ้นจากการที่วัตถุใด ๆ เคลื่อนที่เร็วกว่าความเร็วเสียง (เสียงเคลื่อนที่ในอากาศที่มีอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียสด้วยความเร็วประมาณ 343 เมตรต่อวินาที) ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกิดจากเครื่องบิน โซนิคบูมสามารถเกิดขึ้นได้จากวัตถุขนาดเล็ก เช่น กระสุนปืนหรือแส้ หรือจากปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่าง ภูเขาไฟระเบิด ฝนดาวตก และแผ่นดินไหว
เมื่อสิ่งของบางอย่าง เช่น กระสวยอวกาศ เร่งความเร็วด้วยความเร็วสูง มันจะผลักคลื่นโมเลกุลอากาศและเสียงแผ่ออกไปทุกทิศทาง (ลักษณะเดียวกับที่ก้อนหินตกลงไปในน้ำ) แต่เมื่อยานเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากขึ้น คลื่นที่กระจุกอยู่ตรงส่วนหัวของยานก็จะเริ่มสะสมตัวและบีบอัดแทนที่จะกระเพื่อมออกไป ขณะเดียวกันคลื่นของอากาศและเสียงจะยังคงถูกผลักออกไปจากด้านข้างและด้านหลังของยาน และหากความเร็วของยานยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็เร็วกว่าความเร็วที่คลื่นตรงหัวยานจะเคลื่อนที่ได้ หมายความว่าตอนนี้ยานเคลื่อนที่เร็วกว่าความเร็วเสียงแล้ว ความดันที่สะสมที่ด้านหัวยานจะมากจนปล่อยคลื่นเสียงขนาดใหญ่ออกมา เรียกอีกอย่างว่า คลื่นกระแทก (Shock Wave) มีเสียงคล้ายกับระเบิด ซึ่งองค์การนาซา (NASA) รายงานว่า การปลดปล่อยความดันอย่างรุนแรงนี่เองที่เป็น “โซนิคบูม” ที่เราได้ยิน
โดยทั่วไปแล้วโซนิคบูมจะมีความดังประมาณ 110 เดซิเบล ซึ่งดังพอ ๆ กับเสียงฟ้าร้องหรือระเบิด และความเข้มหรือความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขนาด ความเร็ว รูปร่าง ของวัตถุที่สร้างโซนิคบูม หรือสภาพอากาศ
โซนิคบูมอันตรายหรือไม่ ?
ความเข้มของโซนิคบูมจะวัดปริมาณของความดันเกิน (Overpressure) ซึ่งหมายถึงความดันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าความดันบรรยากาศปกติ โดยแสดงผลเป็นปอนด์ต่อตารางฟุต (psf) ทั้งนี้ความดันบรรยากาศปกติที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราจะอยู่ที่ประมาณ 2,116 ตารางฟุต
อย่างไรก็ตาม NASA รายงานว่า หากความดันเกิน 1 ปอนด์ อาจไม่เกินอันตรายต่อมนุษย์ และหากเกิน 2 - 5 ปอนด์ จะเป็นอันตรายต่อโครงสร้างอาคารต่าง ๆ ซึ่งมักจะเกิดจากเครื่องบินขนาดใหญ่เป็นพิเศษหรือเครื่องบินที่บินในระดับความสูงต่ำกว่าปกติ ก็อาจจะทำให้โครงสร้างอาคารบางส่วนเกิดความเสียหาย แต่ถ้าโครงสร้างอาคารสภาพดีก็สามารถทนต่อความดันเกินได้สูงสุดถึง 11 ปอนด์ ส่วนความเสียหายต่อร่างกายมนุษย์ แก้วหูจะเสียหายได้ ต้องมีความดันเกิน 720 ปอนด์ และหากความดันเกิน 2,160 ปอนด์ จะทำให้ปอดเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม เสียงโซนิคบูมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น เครื่องบิน อากาศยานต่าง ๆ จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่หากต้นกำเนิดของคลื่นกระแทกอยู่ใกล้มนุษย์มาก ๆ รวมถึงอาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ส่งเสริม ก็โอกาสเกิดอันตรายได้ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลจริง ๆ ตอนนี้คือความไม่รู้ต่างหากว่าเสียงที่ว่านี้เกิดจากอะไร และหลายหน่วยงานอยู่ระหว่างเร่งการตรวจสอบ โดย TNN Tech จะอัปเดตต่อไป
ที่มาข้อมูล NationalGeographic, NASA
ที่มารูปภาพ Reuters