รีเซต

เตือน! ฝนตกหนักภาคใต้ส่งท้าย ปี 66 เหนือ-กลาง-อีสานเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

เตือน! ฝนตกหนักภาคใต้ส่งท้าย ปี 66 เหนือ-กลาง-อีสานเสี่ยงขาดแคลนน้ำ
TNN ช่อง16
21 ธันวาคม 2566 ( 15:14 )
40
เตือน! ฝนตกหนักภาคใต้ส่งท้าย ปี 66 เหนือ-กลาง-อีสานเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

สท.เตือนช่วงปลายปี 2566 ภาคใต้ฝนตกหนัก  สั่งเฝ้าระวัง-เร่งวางแผนบริหารจัดการน้ำลดผลกระทบ ส่วนตอนบนหลายพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จับมือบูรณาการประสานทุกภาคส่วน ร่วมบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำพื้นฐาน

            ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน   รมทรัพยากรน้ำ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เมื่อเร็วๆ ว่า ในช่วงวันที่ 22-25 ธันวาคม 2566 นี้ จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงจากประเทศจีนตอนล่างเคลื่อนผ่านอ่าวไทย ภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้ภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 22-26 ธันวาคม 2566 โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส และจ.ปัตตานี

 

             ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดภาวะวิกฤต และในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 รองนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ จ.ปัตตานีและยะลา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมมอบถุงยังชีพเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัย และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย


            นอกจากนี้เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะขึ้น ได้มีการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เพิ่มขึ้นจากวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 14 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงอ่างฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว และจะลดการระบายลงเมื่อฝนตกหนัก เพื่อลดกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนปัตตานี รวมทั้งให้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลับและล้นตลิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกประกาศเตรียมอพยพใน 8 หมู่บ้าน และเตรียมความพร้อมใน 10 หมู่บ้านแล้ว

            สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้นั้น ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเต็มความจุแล้ว 5 แห่ง คือ อ่างฯคลองหยา อ่างฯคลองแห้ง อ่างฯคลองกะทูน อ่างฯคลองดินแดง และอ่างฯหัวช้าง และอ่างเก็บน้ำอีก 14 แห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับ 80-100% ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังด้วย เช่น อ่างฯหาดส้มแป้น อ่างฯบางเหนียวดำ อ่างฯห้วยน้ำใส เป็นต้น โดยได้กำชับให้วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯให้น้อยที่สุด

            ส่วนพื้นที่ตอนตอนบนของประเทศซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูแล้ง  ในหลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ล่าสุดได้มีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แล้งที่ อ.วชิรบารมี และ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งอาศัยแหล่งน้ำใต้ดินเป็นหลักในการอุปโภค บริโภค และประสบปัญหาขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้งปีนี้ จึงได้เสนอแนวทางในการจัดทำสะดือน้ำเพื่อเติมน้ำลงใต้ดิน ปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้านเดิม และเตรียมเสนอโครงการปรับปรุงระบบประปาใหม่ ร่วมกับการจัดทำระบบกระจายน้ำจากบึงสาธารณะสู่พื้นที่ชุมชน นอกจากนี้จากการคาดการณ์ยังพบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในเดือนมกราคม 2567 เช่น อ.อุทุมพรพิสัย
 จ.ศรีสะเกษ และ อ.ห้วยคด จ.อุทัยธานี รวม 8 หมู่บ้าน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 แล้ว อาทิ การเตรียมรถบรรทุกแจกจ่ายน้ำ การดำเนินการสูบน้ำจากแหล่งน้ำมาสำรองในพื้นที่ และการเชื่อมโยงระบบน้ำจากคลองธรรมชาติมาเก็บในสระเก็บน้ำ เป็นต้น

 

            ทั้งนี้ สทนช. ได้เสนอโครงการขุดบ่อบาดาลเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้พื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากที่อยู่นอกเขตชลประทานหรือนอกเขตฝน เพื่อความมั่นคงด้านน้ำในอนาคตด้วย

            เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า จากการติดตามผลการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภาวะน้ำแล้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการสูบน้ำช่วยเหลือแล้วรวม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน ตาก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ขอนแก่น และบึงกาฬ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 38 เครื่อง สูบน้ำรวมได้ 9.06 ล้านลูกบาศก์เมตร แจกน้ำสะอาดจำนวนรวมกว่า330,000  ลิตร ช่วยเหลือครัวเรือนได้ 28,285 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความช่วยเหลือจำนวน 140,000ไร่ และได้ประสานงานแก้ไขเร่งด่วนโดยใช้รถบรรทุกน้ำ สำรวจระดับน้ำบาดาลที่เหมาะสมเพื่อเจาะหาแหล่งน้ำสำรองต่อไป พร้อมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและให้ดำเนินงานตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

            “จากการคาดการณ์ล่วงหน้าพบว่า ด้วยผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญอาจทำให้ฤดูฝนในปี 2567 มาล่าช้า ประมาณช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน 2567 จึงได้มีการบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า เพื่อช่วยบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งพื้นที่ ๆ อยู่ในเขตและนอกเขตชลประทาน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึงในทุกภาคส่วน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง