รีเซต

ชาวไร่อ้อยลุ้นตัวโก่ง ฤดูผลิต64/65 ราคาขั้นต้นทะลุ 1 พันบ.

ชาวไร่อ้อยลุ้นตัวโก่ง ฤดูผลิต64/65 ราคาขั้นต้นทะลุ 1 พันบ.
มติชน
25 ตุลาคม 2564 ( 06:01 )
71
ชาวไร่อ้อยลุ้นตัวโก่ง ฤดูผลิต64/65 ราคาขั้นต้นทะลุ 1 พันบ.

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกส่งมอบล่วงหน้าเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 18.35 เซนต์ต่อปอนด์ ถือเป็นสัญญาณดี ขณะที่ราคาเฉลี่ยปี 2564 อยู่ที่ 18-19 เซนต์ต่อปอนด์ จึงคาดการณ์ว่าเมื่อคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/65 จะอยู่ในระดับเกิน 1,000 บาทต่อตัน(10ซี.ซี.เอส)ยังไม่รวมเงินค่าตัดอ้อยสด ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำตาลโลกทรงตัวระดับสูงมาจากราคาบราซิลผู้ผลิตน้ำตาลส่งออกรายใหญ่ประสบภาวะภัยแล้ง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจผลักดันให้บราซิลนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลแทน แต่ต้องติดตามโควิด-19 ใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไร หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้นต่อเนื่องจะทำให้การบริโภคน้ำตาลสูงตาม จะมีผลต่อราคาเช่นเดียวกับราคาน้ำมัน ขณะเดียวกันไทยได้อานิสงค์บาทอ่อนหนุนการส่งออกด้วย

 

“การเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/65 คือต้นเดือนธันวาคมนี้ ภาพรวมปริมาณผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 85-90 ล้านตัน สูงกว่าฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งโรงงานและชาวไร่มีความพร้อมมากขึ้น ยกเว้นภาคตะวันออกอาจจะประสบปัญหาด้านแรงงานเพราะพึ่งพิงแรงงานจากกัมพูชาซึ่งติดปัญหาโควิด-19 จึงเพิ่มเครื่องตัดอ้อยมากขึ้นโดยฤดูหีบนี้รัฐได้ส่งเสริมการตัดอ้อยสด 90% ส่วนเงินจูงใจจะอยู่ที่ 120 บาทต่อตันเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องรอคำตอบจากรัฐ”นายนราธิปกล่าว

 

นายนราธิป กล่าวว่า สำหรับกรณีสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มีมติคัดค้านร่างแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ต้องการนำกากอ้อยและกากตะกอนกรองเข้าสู่การคำนวณระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 โดยเพิ่มเติมคำนิยามให้รวมกากอ้อย กากตะกอนกรอง เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล และมีความเห็นว่ากากอ้อยเป็นกากขยะอุตสาหกรรมไม่ใช่ผลพลอยได้จากการผลิตเป็นการปิดกั้นโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมนำของเสียกากอ้อยและกากตะกอนกรองในอุตสาหกรรมไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้น ประเด็นนี้ทางชาวไร่อ้อยยืนยันหลักการตามร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอ โดยภาคประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากก่อนหน้านี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยตีความแล้วว่ากากอ้อยเป็นผลพลอยได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง