รีเซต

สธ.กางแผนฉีดวัคซีนโควิด ยืนยันไม่ล่าช้า ล็อตแรกถึงไทย 24 ก.พ.นี้

สธ.กางแผนฉีดวัคซีนโควิด ยืนยันไม่ล่าช้า ล็อตแรกถึงไทย 24 ก.พ.นี้
TNN ช่อง16
17 กุมภาพันธ์ 2564 ( 09:31 )
183
สธ.กางแผนฉีดวัคซีนโควิด ยืนยันไม่ล่าช้า ล็อตแรกถึงไทย 24 ก.พ.นี้

วันนี้ (17 ก.พ.64) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หลังจากสภาฯ ได้มีการอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมากจึงอยากมาทำความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องของวัคซีนที่เป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจ โดยในช่วงแรกของการแพร่ระบาดบริษัทต่างๆ ยังไม่มีการผลิตวัคซีน โดยเป็นช่วงที่พัฒนาวิจัยเพื่อให้วัคซีนมีคุณภาพปลอดภัย ซึ่งการฉีดวัคซีน ทางกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายหลักเพื่อป้องกันโรค ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ รวมถึงวัคซีนจะช่วยป้องกันบุคคลด้วย ในฐานะรัฐต้องมีการฉีดให้ครอบคลุม 


ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยได้ทำการจองวัคซีนถึง 63 ล้านโดส โดยถือว่าสูงที่สุด ซึ่งถือเป็นอีกปีหนึ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องทำงานอย่างหนัก โดยปีนี้ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนเต็มที่ คือ 63 ล้านโดสให้เสร็จสิ้นภายในปี 2564 นี้ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่มาตรการต่างๆเช่นการเปิดประเทศ คาดว่าปลายปี 2564 วัคซีนจะล้นตลาด มีบริษัทจำนวนมากมาขาย อีกทั้งราคาจะถูกลงกว่าในช่วงปัจจุบัน เมื่อถึงตอนนั้นจะไทยก็จะมีการซื้อมาเตรียมไว้ 



ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้พยายามและวางแผนการจัดหาวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ทั้งการส่งเสริมการวิจัยวัคซีนภายในประเทศช่องทางที่สองการส่งเสริมและร่วมมือการวิจัยวัคซีนในต่างประเทศ และช่องทางที่สาม การติดต่อประสานการจัดหา จองสั่งซื้อล่วงหน้าวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต 


สิ่งสำคัญ คือ การตั้งเป้าการได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งจากขั้นตอนทั้งหมดมีการประเมินว่า วัคซีนที่ผลิตของบริษัทแอสตราเซเนก้าเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยและพบว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย มีความพร้อมในการรับเทคโนโลยีในการผลิตจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนก้า โดยเป็นการตกลงในเงื่อนไขที่ทางบริษัทแอสตราเซเนก้าจะเป็นผู้ร่วมผลิตวัคซีน เพื่อประเทศในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยยังได้การเจรจาจองซื้อวัคซีนด้วย ซึ่งมีการจองไปทั้งหมด 35 ล้านโดส 


ส่วนของประเด็นการร่วมเข้าจัดหาวัคซีนกับโคแวกซ์ ประเทศไทยยังพิจารณาเงื่อนไขอยู่ เพราะส่วนหนึ่งวัคซีนที่ทางกลุ่มโคแวกซ์จัดหาก็เป็นวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนก้า ซึ่งประเทศไทยได้มีการสั่งจองไว้อยู่แล้ว และก็ได้ผลิตเองด้วย 



นพ.นคร ยืนยันว่า ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนก้า มีความปลอดภัย แนะนำให้ใช้กับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปได้


ส่วนเรื่องราคาของวัคซีน ราคาที่มีการแสดงตามเว็บไซต์ต่างๆ บางส่วนยังไม่รวมกับเงินงบประมาณที่หลายหน่วยได้นำไปมอบให้เพื่อการสนับสนุนในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศได้รับวัคซีนในราคาที่ต่างกัน รวมไปถึงแหล่งผลิตของวัคซีน ซึ่งจะทำให้ราคาต้นทุนของวัคซีนแตกต่างกันไปอีก ดังนั้น ราคาวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนก้า ผู้ผลิตจะคิดราคาวัคซีนจากปัจจัยเหล่านี้ ที่จะพิจารณาให้แต่ละประเทศไม่สามารถคิดมูลค่า ราคาของวัคซีนจากเว็บไซต์ต่างๆ ได้ 


ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ ระบุถึงการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป้าหมายของการฉีดวัคซีน ทำให้ในระยะที่หนึ่งในช่วงที่มีประมาณวัคซีนจำกัดจำเป็นต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนก่อน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อ ส่วนในระยะที่สองมีปริมาณวัคซีนมากขึ้นทางกรมควบคุมโรคได้จัดทำแผนการบริหารวัคซีน โควิด-19 ไว้ โดยจัดหน่วยบริการโรงพยาบาลรัฐและเอกชนประมาณ 1,000 แห่ง สำหรับแผนการกระจายวัคซีน มีดังนี้


- ระยะที่หนึ่ง เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2564 บริหารจัดการวัคซีน 2 ล้านโดส 


- ระยะที่สอง เดือนมิถุนายน ถึง เดือนธันวาคม 2564 บริหารจัดการวัคซีนอีก 61 ล้านโดส 


เฉลี่ยจะจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชนประมาณ 300,000 คนต่อวัน และจะได้เดือนละ 10 ล้านโดส 



ขณะนี้ได้มีการส่งรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดในการเตรียมพร้อม และซักซ้อมการให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชนไปแล้ว ระยะเวลาขั้นตอนทั้งหมดจะอยู่ 37-40 นาทีต่อคน ในกรณี การเฝ้าติดตามผลข้างเคียงของการรับวัคซีนจะติดตามต่อจนครบ 1 เดือน หลังรับวัคซีน ซึ่งตามปกติหากมีอาการแพ้วัคซีนรุนแรง จะแสดงอาการหลังการฉีดไปแล้ว 20 นาที ซึ่งการเฝ้าติดตามอาการ 30 นาที ในเบื้องต้นจึงเพียงพอ 


ขณะที่ กระบวนการฉีดวัคซีนวางแผนไว้จะให้บริการจะจัดฉีดวัคซีนในสถานพยาบาล โรงพยาบาล หรือ รพ.สต. ซึ่งหลังจากรับวัคซีนมาแล้ว วัคซีนทั้งหมดจะได้ใบรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนนำไปเก็บคลัง องค์การเภสัชกรรม ที่อุณภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส  จากนั้นก็จะกระจายไปพื้นที่ต่างๆ มีการกำกับอุณหภูมิความเย็นทุกกล่องทุกล็อต ซึ่งในการกระจายวัคซีนก็จะมีการใช้ระบบเบิกจ่ายที่มีการวางเครือข่ายไว้แล้ว ส่วนการจัดการในระบบภูมิภาคจะใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดในการกำหนดวันเวลาสถานที่ 


ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวทิ้งท้ายยืนยันว่า ขณะนี้ในประเทศไทยยังถือว่ามีการควบคุมโรคได้ดี ตามนโยบายทางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่งอัตราการแพร่ระบาดถือว่าต่ำมาก แต่ก็ยังขอเน้นย้ำกับประชาชนว่าแม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ขอให้ยังคงมาตรการส่วนบุคคลทั้งการล้างมือและการสวมหน้ากากรวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมไว้.



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง