รีเซต

7 เรื่องเปลี่ยนโลก ที่คนแวดวงไอทีไม่ควรมองข้าม

7 เรื่องเปลี่ยนโลก ที่คนแวดวงไอทีไม่ควรมองข้าม
TNN ช่อง16
29 พฤศจิกายน 2565 ( 15:03 )
56
7 เรื่องเปลี่ยนโลก ที่คนแวดวงไอทีไม่ควรมองข้าม

เดวิด ยอคเคลสัน (David Yockelson) รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ (Gartner) บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับผู้บริหารและผู้นำด้านไอที ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงแบบหักล้าง หรือที่เรียกว่าดิสรัปชัน (Disruption) 7 ประการ เพื่อส่งสัญญาณให้เหล่าผู้บริหารด้านไอทีและผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมเปิดรับโอกาสที่มาถึงในอีก 5 ปี ข้างหน้า




ประสบการณ์การทำงานกับ Metaverse 


การ์ทเนอร์ (Gartner) ชูเมตาเวิร์ส (Metaverse) เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในบรรดา 7 การเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง โดยมองว่าองค์กรมากมายจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส (Metaverse) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม การทำงานร่วมกัน และการเชื่อมต่อที่ดีขึ้นกับพนักงานในสถานที่ทำงาน ที่มอบประสบการณ์สมจริงยิ่งขึ้นในสำนักงานเสมือน จริง และการใช้ประสบการณ์เมตาเวิร์ส (Metaverse) ภายในองค์กรหรือที่เรียกว่า อินทราเวิร์ส (Intraverse)

 

การ์ทเนอร์ (Garter) คาดการณ์ว่าการสร้างพื้นที่ทำงานเสมือนจริงเต็มรูปแบบ (Fully Virtual Workspaces) จะคิดเป็นร้อยละ 30 ของการเติบโตด้านการลงทุนในเทคโนโลยี Metaverse และจะพลิกโฉมประสบการณ์การทำงานในสำนักงานไปจนถึงปี 2570 หรืออีก 5 ปี ต่อจากนี้

 

รถบินได้ (Flying cars)


ยานพาหนะไร้คนขับ โดยเฉพาะอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ที่ใช้รับส่งผู้โดยสารเป็นระยะทางสั้น ๆ ตามเขตเมือง หรือที่บางครั้งเรียกว่า "รถบินได้" ได้รับการออกแบบให้ทำงานโดยไม่มีนักบินที่เป็นมนุษย์ ซึ่งบริษัทหลายแห่งกำลังทำงานเกี่ยวกับเครื่องบินรุ่นใหม่เหล่านี้ โดยอาศัยการขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างวิถีการเดินทางทางอากาศที่เร็วกว่า ถูกกว่า ปลอดภัยกว่า และลดการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แออัด ซึ่งบริการแท็กซี่บินได้แห่งแรกมีกำหนดเปิดตัวในปี 2567 ที่จะถึงนี้

 

แม้จะมีความท้าทายด้านกฎระเบียบที่อาจเกิดขึ้น แต่ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญในด้านไอทีควรพิจารณาและประเมินเกี่ยวกับปัญหาในด้านการขนส่ง การเคลื่อนย้ายคนและสินค้าขององค์กร ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยใช้ยานพาหนะเหล่านี้แทน


ระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ดิจิทัล


ตั้งแต่การดูแลทางการแพทย์ การให้บริการลูกค้า เวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ (Virtual Influencer)  และการฝึกอบรมของฝ่ายบุคคล ไปจนถึงการกู้คืนชีวิตผู้ตาย ล้วนเป็นความเป็นไปได้ของการใช้งานมนุษย์ดิจิทัลที่ไม่สิ้นสุด โดยระบบเศรษฐกิจมนุษย์ดิจิทัลนั้นนำเสนอโอกาสให้แก่ระบบนิเวศดิจิทัลใหม่ ๆ ซึ่งอาศัยศักยภาพของเทคโนโลยีที่นำบุคคลและองค์กรมารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์และโต้ตอบในรูปแบบใหม่ 

 

ทางบริษัท การ์ทเนอร์ (Gartner) คาดการณ์ว่าภายในปี 2578 ระบบเศรษฐกิจมนุษย์ดิจิทัล (The Digital Human Economy) จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 4 ล้านล้านบาท และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

องค์กรอิสระแบบกระจายอำนาจ (The Decentralized Autonomous Organization: DAO)


องค์กรอิสระแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Autonomous Organizations หรือ DAO) เป็นองค์กรรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในตลาดบริการด้านไอที ทางการ์ทเนอร์ (Gartner) ได้ให้คำจำกัดความ DAO ว่าเป็นหน่วยงานดิจิทัลที่ดำเนินงานบนบล็อกเชน (Blockchain) และยังมีส่วนร่วมในการโต้ตอบทางธุรกิจกับองค์กร DAO อื่น ๆ หรือตัวแทนดิจิทัลและตัวแทนที่เป็นมนุษย์ โดยไม่ต้องมีการบริหารจัดการบุคลากรในแบบเดิม ๆ 

 

พนักงานที่มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลระดับสูงจำนวนมากจะถูกดึงดูดให้ทำงานในองค์กร DAO มากขึ้นในอนาคต เพราะองค์กรในรูปแบบ DAO มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อบรรทัดฐานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหลายประการที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน


การชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) แบบไร้สาย 


ในอนาคตเมื่อการชาร์จแบบไร้สายพร้อมให้บริการ การชาร์จแบบไร้สายจะกลายเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับยานพาหนะในกลุ่มรถประจำทางและแท็กซี่ ซึ่งยานพาหนะเหล่านี้สามารถใช้การชาร์จแบบไดนามิก (Dynamic Charging) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มระยะทางขับขี่ได้ไกลขึ้นและลดต้นทุนต่าง ๆ จากการไม่ต้องเสียเวลาชาร์จตามสถานี 

 

นอกจากนั้นการติดตั้งสถานีชาร์จไฟในที่พักอาศัยจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการชาร์จรถยนต์แบบไร้สาย เนื่องจากเจ้าของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จะได้รับสะดวกขึ้น โดยไม่ต้องเสียบสายชาร์จให้ยุ่งยากอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม การ์ทเนอร์ (Gartner) คาดว่าในอนาคต โครงการบ้านจัดสรรของภาคเอกชนและพื้นที่ว่างของสถาบันการศึกษาจะมีปริมาณการติดตั้งสถานีชาร์จไร้สายมากกว่าการติดตั้งที่บ้านพักอาศัยอีกด้วย




กราฟีน (Graphene) จะมาแทนที่ซิลิกอน (Silicon)


ในอีก 7 ถึง 10 ปีข้างหน้านี้ เราจะเห็นศักยภาพมหาศาลของอุปกรณ์ทรานซิสเตอร์ แบบฟิลด์เอฟเฟกต์ (Field-Effect Transistor) หรืออุปกรณ์ส่งคำสั่งด้วยไฟฟ้าแบบ 3 ขา สำหรับควบคุมสนามไฟฟ้าในวงจร ที่ใช้กราฟีน (Graphene) สารสังเคราะห์คาร์บอนบริสุทธิ์ความหนาหนึ่งอะตอม (ประมาณ 0.1 นาโนเมตร ซึ่งบางกว่าเส้นผม 80,000 เท่า) ที่เรียงต่อกันเป็นโครงสร้างแบบรังผึ้งหกเหลี่ยม มาทดแทนซิลิคอน (Silicon) วัตถุดิบหลักในทรานซิสเตอร์แบบเดิม เพื่อทลายขีดจำกัดเรื่องขนาดที่เล็กสุด ซึ่งกราฟีนสามารถแทนที่อุปกรณ์ซิลิกอนในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้สำหรับการสื่อสารไร้สาย โดยที่อุปกรณ์ที่ทำมาจากคาร์บอนเหล่านี้สามารถเก็บกระแสไฟฟ้าที่สูงกว่าได้มากในพื้นที่ขนาดเล็กลง ทำให้สามารถประมวลผลได้รวดเร็ว

 

ซีไอโอ (CIO: Chief Information Officer) หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ควรพิจารณาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ใช้ “กราฟีน” และเริ่มค้นหาซัพพลายเออร์ (Supplier) หรือผู้ผลิตที่เกิดใหม่ สำหรับเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

 

เทคโนโลยีจะกลายเป็นของใช้แล้วทิ้ง


การ์ทเนอร์ (Gartner) วิเคราะห์ในอนาคต มีความเป็นไปได้ที่วงการเทคโนโลยีจะกลายเป็นแบบเดียวกับวงการแฟชันที่เปลี่ยนแปลงความต้องการอย่างรวดเร็ว ด้วยการออกแบบแอปพลิเคชันที่ “ใช้แล้วทิ้ง” ในขณะที่องค์ประกอบต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจที่เน้นความคล่องตัวเป็นหลัก (Business Composability) จะกลายเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เปิดโอกาสให้ผู้บริหารไอทีดำเนินนโยบายภายใต้ความยืดหยุ่นด้วยเทคโนโลยีแบบที่ใช้แล้วทิ้งได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อบริษัท


ทั้ง 7 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก ในมุมมองของการ์ทเนอร์ (Gartner) เป็นสิ่งที่วิเคราะห์ภายใต้การตั้งคำถามว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…” ต่อไปเรื่อย ๆ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การดิสรัปชัน (Disruption) เป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อเนื่องอย่างถาวร และองค์กรที่ประสบความสำเร็จคือองค์กรที่พร้อมรับมือต่ออนาคตที่อาจมาถึงนั่นเอง


ที่มาข้อมูล การ์ทเนอร์ (Gartner)

ที่มารูปภาพ Getty Images 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง