รีเซต

ก้มเล่นมือถือนาน ระวังกระดูกคอเสื่อม

ก้มเล่นมือถือนาน ระวังกระดูกคอเสื่อม
TNN ช่อง16
11 กันยายน 2567 ( 14:27 )
22

โรคกระดูกคอเสื่อมพบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่ต้องก้มคอมองหน้าจอ ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง และอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อม คือ อายุที่เพิ่มขึ้น 

โดยโรคกระดูกคอเสื่อม คือ โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของส่วนประกอบต่าง ๆ ที่บริเวณกระดูกต้นคอซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ หมอนรองกระดูกคอ กระดูกคอด้านหน้า ข้อต่อกระดูกคอ และเอ็นประกบข้อบริเวณกระดูกคอ ส่งผลให้กระดูกคอไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ 




สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมที่พบได้บ่อย มีดังนี้


-กระดูกคอเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น จากหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีส่วนประกอบของน้ำลดลง การมีหินปูนหรือกระดูกงอกยึดเกาะที่กระดูกคอและเอ็นพังผืด

-เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือ การนั่งโต๊ะทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน


 

-กระดูกคอเสื่อมหลังประสบอุบัติเหตุที่บริเวณลำคอ 

-เกิดจากโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระดูกต้นคอ



อาการของโรคกระดูกคอเสื่อม จะไม่แสดงอย่างชัดเจนในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่จะสะสมเรื้อรังเป็นเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี อาการแตกต่างกันตามช่วงระดับความรุนแรง ดังนี้


-มีอาการปวดคอ ปวดตึงต้นคอ มีอาการคอติด หันซ้าย-ขวา ก้มหน้าหรือเงยหน้าได้ลำบาก

-เมื่อหินปูนเกาะกระดูกหรือกระดูกงอกจนไปกดเส้นประสาท จะทำให้ปวดคอร้าวไปยังแขน ข้อศอก ปลายนิ้วมือ และเกิดอาการชาที่แขน ปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอยหรือลงมาบริเวณสะบัก จะปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวหรือต้องใช้แรง

-ในระยะรุนแรงที่ จะมีภาวะอ่อนแรงจนส่งผลกระทบต่อการขยับร่างกาย รวมไปจนถึงการทรงตัวและการเดิน




การวินิจฉัยและรักษา โรคกระดูกคอเสื่อม

แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติของกระดูกต้นคอด้วยการทำ MRI SCAN หากอาการอยู่ในขั้นต้น รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม งดการก้มหน้าเล่นโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เลือกโต๊ะทำงานที่ตอบโจทย์สรีระ หมั่นออกกำลังกาย หรือ ทำกายภาพบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ 



นอกจากนี้จะรักษาด้วยใช้ยาหรือการฉีดยา และใส่เครื่องช่วยพยุงคอ เพื่อประคับประคองอาการให้กลับมาสู่ภาวะปกติ และวิธีการผ่าตัด จะช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างตรงจุด 



ข้อมูล : ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพ : ทีมกราฟิก TNN

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง