รีเซต

เตือน! พบสารปนเปื้อนใน "ปลาหมึกแห้ง" เกินค่ามาตรฐาน

เตือน! พบสารปนเปื้อนใน "ปลาหมึกแห้ง" เกินค่ามาตรฐาน
TNN ช่อง16
13 สิงหาคม 2563 ( 11:29 )
2.4K

จากกรณีที่ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบ การสุ่มเก็บตัวอย่างปลาหมึกแห้ง จำนวน 13 ตัวอย่าง จากตลาดสด ร้านค้า และห้างออนไลน์ ผลการตรวจวิเคราะห์ ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin และ การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (Pesticides Pyrethroid)

ส่วนผลทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอท ในปลาหมึกแห้งที่นำมาทดสอบนั้น ทุกตัวอย่างไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นผลทดสอบแคดเมียม พบว่า ปลาหมึกแห้ง จำนวน 7 ตัวอย่าง ที่ส่งตรวจมีการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด สอดคล้องกับมาตรฐานโคเด็ก (Codex) ซึ่งกำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ต่อ อาหาร 1 กิโลกรัม

ล่าสุด วันนี้ (13 ส.ค.63) นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงว่า แคดเมียมเป็นโลหะหนักที่พบปนเปื้อนได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน และน้ำ

ด้วยเหตุนี้ อย. จึงออกประกาศสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน โดยกำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมใน "ปลาหมึกสด" ได้ไม่เกิน 2 ไมโครกรัม ต่อ กิโลกรัม ส่วนปริมาณการปนเปื้อนใน "ปลาหมึกแห้ง" ได้ไม่เกิน 4.88 ไมโครกรัม ต่อ กิโลกรัม

ทั้งนี้ อย. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่าง ณ สถานที่จำหน่ายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งหากตรวจพบผลิตภัณฑ์อาหารมีปริมาณโลหะหนักเกินมาตรฐานกำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนักในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม อย. ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อปลาหมึกแห้งจากสถานที่จำหน่ายที่สะอาดและน่าเชื่อถือ สามารถให้ข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้านั้นได้ และควรบริโภคปลาหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป เนื่องจากปลาหมึกแห้งเป็นอาหารที่มีโคเลสเตอรอล และโซเดียมค่อนข้างสูง หากบริโภคมากเกินเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้

อ่านผลการทดสอบปลาหมึกแห้งฉบับเต็ม

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง