ธปท.เผยธุรกรรมเงินบาทในoffshore พุ่ง 61%
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าเงินสกุลอื่น และนำทุกประเทศในภูมิภาค รวมถึงแข็งค่านานกว่าประเทศอื่น โดยช่วง 5 ปี (2558-2562) เฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของเงินบาทแข็งค่าขึ้น 10% โดยพบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตามปัจจัยภายในประเทศมีเพียง 15% เท่านั้น ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศมีผลถึง 85% ดังนั้นแม้จะมีการระบาดโควิด-19ระลอกใหม่เงินบาทจึงไม่อ่อนค่าลง
ที่สำคัญพบว่าปริมาณธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศ หรือ offshore ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) เพิ่มขึ้นมากจาก 21% เป็น 61% ของธุรกรรมเงินบาททั้งหมด เนื่องจากธุรกิจต่างประเทศจะเข้ามาทำธุรกรรมเงินบาทหรือป้องกันความเสี่ยงในประเทศจะมีหลักเกณฑ์และการส่งเอกสารค่อยข้างยุ่งยาก จึงเป็นเหตุผลให้ธุรกิจต่างประเทศทำธุรกรรมเงินบาทในตลาด offshore เป็นส่วนใหญ่
นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เมื่อเงินบาทไปอยู่ในตลาดต่างประเทศมาก จึงทำให้ค่าเงินบาทผันผวนง่าย และการติดตามพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของเงินบาททำได้ยาก รวมถึงมาตรการที่ดำเนินการเข้าไม่ถึงมีข้อจำกัด
ดังนั้นธปท. จึงแก้ปัญหาโดยการผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศ (onshore) ได้คล่องตัวขึ้น ภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC) โดยนิติบุคคลต่างประเทศที่ต้องการเข้าโครงการ NRQC จะต้องเข้ามาแสดงความจำนงยืนยันตัวตนกับสถาบันการเงินในประเทศที่ต้องการทำธุรกรรมเพียงครั้งเดียว และหลังจากนั้นนิติบุคคลต่างประเทศไม่ต้องแสดงรายการการทำธุรกรรมรายธุรกรรม และสามารถทำธุรกรรมหลากหลายมากขึ้น จากเดิมจำกัดให้ทำธุรกรรมได้บางประเภทเท่านั้น รวมถึงไม่ต้องถูกจำกัดยอดคงค้างบัญชีเงินบาทสำหรับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident Baht Account : NRBA) จากเดิมที่จำกัดยอดคงค้างไว้ไม่เกิน 200 ล้านบาท
การผ่อนคลายครั้งนี้ ธปท.ต้องการดึงปริมาณธุรกรรมเงินบาทในตลาด offshore กลับมาในประเทศ ซึ่งนิติบุคคลต่างประเทศที่ทำธุรกรรมเงินบาทในตลาด offshore มีประมาณ 10-15% จากปริมาณธุรกรรมเงินบาทในตลาดoffsore ทั้งหมด 61% เพื่อจะได้ติดตามข้อมูลได้ง่าย และลดความผันผวนของค่าเงินบาทได้ทางหนึ่ง
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวของธปท. เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ผ่านการปรับโครงสร้างการทำธุรกรรมเงินบาทในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มทั้งจำนวนผู้ทำธุรกรรม โดยเฉพาะนิติบุคคลต่างประเทศ และสภาพคล่องของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ รวมถึงเอื้อต่อการติดตามข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE