สมัครเลย! เปิดเงื่อนไข จุฬาฯ รับสมัครผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีน mRNA ของ ChulaCov19
วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนที่เรียกได้ว่าเนื้อหอมที่สุดในตอนนี้ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดหนักในตอนนี้ได้ โดยล่าสุดประเทศไทยได้มีนวัตกรรมการผลิตวัคซีน ลักษณะ mRNA จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เปิดรับสมัคร “ผู้สูงอายุ” อายุ 56-75 ปี เข้าร่วมฉีดวัคซีน ChulaCov19
วันนี้ TrueID จะมาเปิดรายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีน mRNA สำหรับคนไทย ในโครงการ ChulaCov19 vaccine ระยะที่ 1 เพิ่มเติมสำหรับ “ผู้สูงอายุ” จะมีเงื่อนไข ขั้นตอนการสมัครอย่างไรบ้าง ไปดูกัน
จากกรณีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทดสอบการฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดีระยะที่ 1 และต่อเนื่องในระยะที่ 2 เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน ChulaCov19(จุ-ฬา-คอฟ-ไนน์-ทีน) ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล ทีมนักวิจัย เมื่อกลางเดือนมิ.ย.2564 ที่ผ่านมา
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับสมัครอาสาสมัครเข้าโครงการ ChulaCov19 vaccine ระยะที่ 1 เพิ่มเติมสำหรับ “ผู้สูงอายุ” อายุ 56-75 ปี เข้าร่วมวัคซีน mRNA ของคนไทยแบบด่วนที่สุด รายละเอียดมีดังนี้
คุณสมบัติเข้าร่วมวัคซีน mRNA
- อายุ 56-75 ปี
- ไม่มีโรคประจำตัว
- ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19
- ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19
สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ
1.ผู้ที่สนใจโปรดกรอกข้อมูลเพื่อคัดกรองเบื้องต้น
http://crc.md.chula.ac.th/redcap/surveys/?s=78T7E7T3DR
2.ผู้ที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่โครงการเพื่อคัดกรองการเข้าร่วมโครงการ
3.กรุณากรอกเบอร์โทรศัพท์ทุกท่านผ่านช่องทางที่กำหนด โดยเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับทางโทรศัพท์เท่านั้น
สมัครได้ถึงเมื่อไหร่
ระยะเวลาที่เปิดรับสมัคร 3 ส.ค.- 10 ส.ค. 2564
เริ่มฉีดวัคซีนปลายเดือนสิงหาคม 2564
ประสิทธิภาพวัคซีน ChulaCov19 ที่ต้องรู้ก่อนสมัคร
1.จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น เป็นอย่างมาก
2.ผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า เมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน 3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เป็นจำนวนมาก
3.วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด แต่วัคซีนชนิด mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์มีวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็วเช่นกัน
ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการเตรียมความพร้อมพัฒนาทดลองวัคซีนรุ่นที่สองกับสัตว์ทดลองควบคู่กันไปกับรุ่นแรกข้างต้น เพื่อรองรับเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ฯลฯ ทั้งหมดนี้นับเป็นวัคซีนที่คิดค้น พัฒนาและผลิตโดยคนไทย จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผนคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนได้เพื่อทดสอบในอาสาสมัครภายในไตรมาสสี่ของปีนี้
สำหรับวัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้วภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด
โดยที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการทดลองในลิง และหนู ได้ประสบผลสำเร็จ พบว่า สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1ให้กับอาสาสมัครเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564 เป็นวันแรก โดยแบ่งการทดสอบได้ดังนี้
- การทดสอบในระยะที่ 1 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอายุ จำนวน 72 คน
- กลุ่มแรก เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน
- กลุ่มที่สอง เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 65-75 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน
ข้อมูลจาก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง