รีเซต

เปิด 4 ปัจจัย “แผ่นดินไหว” เกาะสุมาตรา ไทยน่าเป็นห่วงหรือไม่?

เปิด 4 ปัจจัย “แผ่นดินไหว” เกาะสุมาตรา ไทยน่าเป็นห่วงหรือไม่?
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2568 ( 15:30 )
13

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันใกล้เกาะสุมาตรา และผลกระทบถึงประเทศไทยน่าเป็นห่วงหรือไม่? โดยระบุว่า การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณใกล้เกาะสุมาตรามีปัจจัยทั้งหมด 4 ข้อด้วยกันคือ

 

  1. พื้นที่ตั้งของเกาะสุมาตราใกล้วงแหวนแห่งไฟ

เกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซียตั้งอยู่ ใกล้พื้นที่วงแหวนแห่งไฟซึ่งเป็นบริเวณที่มีรอยเลื่อนและมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้งอยู่ห่างจากภาคใต้ของประเทศไทยประมาณ 400- 500 กม.จึงเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และเล็กบ่อยครั้งอาจมีผลกระทบต่อภาคใต้ของประ เทศไทยได้โดยเฉพาะคลื่นสึนามิ 

 


  1. เกาะสุมาตราตั้งอยู่บนขอบของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย

ที่ตั้งของเกาะสุมาตราอยู่บนขอบแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย โดยมีแผ่นเปลือกโลกอินเดียมุดลงไป เกิดเป็นเขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ เมื่อแผ่นเปลือกโลกด้านล่าง(อินเดีย) เคลื่อนตัวลงอย่างช้าๆ (ยูเรเซีย) ก็จะดึงแผ่นเปลือกโลกด้านบนลงมาด้วยทำให้แผ่นพื้นผิวดินด้านบนเสียรูปและเกิดแรงกดทับจากน้ำทะเล (หากอยู่ในมหาสมุทร) หรือจากพื้นผิวดิน (หากอยู่บนบก) เมื่อแรงกดทับสะสมจนเกินแรงเสียดทานที่ล็อคไว้ แผ่นเปลือกโลกทั้งสองจะแยกออกจากกันอย่างกะทันหันและแผ่นเปลือกโลกด้านบนจะเลื่อนกลับ การเคลื่อนที่อย่างกะทันหันนี้ก่อให้เกิดแผ่นดินไหว

กรณีการเกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทร หากแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใกล้ร่องลึกยุบตัวลงในขณะที่แผ่นดินด้านในยกตัวสูงขึ้นอย่างกะทันหันซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกในแนวดิ่ง จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ได้ ซึ่งการจะเกิดคลื่นสึนามิได้จะต้องมีแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 7.0 แมกนิจูดขึ้นไป


  1. กลุ่มแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ปกติ

วันที่ 4 มิ.ย.-4 ก.ค. 68 เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางในทะเลอันดามัน 22 ครั้ง สูงสุดคือที่ 5.4 แมกนิจูดที่ความลึกประมาณ 10 กม. เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในประเทศที่อยู่ใกล้วงแหวนแห่งไฟ ลักษณะเป็นกลุ่มแผ่นดินไหว แต่ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าภูเขาไฟใต้ทะเลกำลังจะปะทุ


  1. รอบการเกิดอุบัติซ้ำ (Return Period) 

ในการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (Megathrust Earthquake) ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 9.0แมกนิจูดขึ้นไป เหมือนที่เคยเกิดแผ่นดินไหวที่ใกล้เกาะสุมาตราและมีคลื่นสึนามิขนาดใหญ่เคลื่อนถึงจังหวัดภูเก็ตในปี 2547 เราต้องใช้เวลาถึง 400 ปีขึ้นไป แต่การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกาะสุมาตราซึ่งต่ำกว่า 7.0 แมกนิจูดก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้แต่คงไม่เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ถึงประเทศไทย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง