หุ่นยนต์เต่าน้อยผู้นำทางพาลูกเต่าลงทะเลอย่างปลอยภัย
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอเทรอดาม (University of Notre Dame) ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เต่าน้อยที่ใช้การเลียนแบบการคลานบนพื้นทรายของเต่าทะเล โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับนำทางลูกเต่าที่เพิ่งฟักออกจาไข่ เดินทางลงสู่มหาสมุทรอย่างปลอดภัย
ทีมนักวิจัยผู้พัฒนาหุ่นยนต์เต่าน้อย ประกอบไปด้วยศาสตราจารย์ ยาเซมิน ออซคาน-ไอดิน (Yasemin Ozkan-Aydin) นักศึกษาปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้า , นามดิ ชิเกเร (Nnamdi Chikere) และจอห์น ไซมอน แมคเอลรอย (John Simon McElroy) นักศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยคอลเลจดับลิน (University College Dublin)
ปัญหาสำคัญของเต่าทะเลเกิดขึ้นในช่วงหลังจากลูกเต่าฟักออกจากไข่และคลานไปบนชายหาดเพื่อลงทะเล ลูกเต่าจำนวนมากเสียชีวิตจากการถูกสัตว์นักล่าในธรรมชาติจับกินเป็นอาหารและลูกเต่าบางส่วนหลงเดินไปทิศทางตรงกันข้ามกับทะเล เนื่องจากเสียงและแสงไฟที่เกิดจากมนุษย์ ทีมนักวิจัยมองเห็นปัญหาดังกล่าวจึงพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เต่าน้อยเพื่อช่วยนำทางลูกเต่าไปสู่ทะเล
หุ่นยนต์เต่าน้อยได้รับการออกแบบโดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาทางสัตววิทยาเกี่ยวกับสัณฐานวิทยา รูปแบบการเดิน และความยืดหยุ่นของตีนกบของเต่าทะเลหลายสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและความคล่องตัวในการนำทางสูงสุด ทีมงานนักวิจัยได้ศึกษารูปแบบการเคลื่อนที่ของเต่าสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยรูปลักษณ์ภายนอกของหุ่นยนต์มีความคล้ายกับเต่าในธรรมชาติเพื่อประสิทธิภาพในการนำทางลูกเต่าทะเล
โครงสร้างลำตัวถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของหุ่นยนต์เต่าน้อย ระบบขับเคลื่อนใช้ตีนกบสี่ขาที่ควบคุมด้วยคลื่นวิทยุแยกออกจากกัน การควบคุมใช้ชุดอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องบิน ชิ้นส่วนอุปกรณ์หลายชิ้น รวมไปถึงเซนเซอร์ และแบตเตอรี่ และขั้วต่อตีนกบสร้างจากเครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ โดยใช้โพลิเมอร์แข็ง ครีบของหุ่นยนต์เต่าทำจากซิลิโคนเพื่อให้ทั้งความยืดหยุ่นและความแข็ง
แม้จะเป็นเพียงต้นแบบของหุ่นยนต์เต่า แต่ทีมงานนักวิจัยเชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการสูญพันธ์ของเต่าทะเล หนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของมหาสมุทร
ที่มาของข้อมูล Newatlas
ที่มาของรูปภาพ News.nd.edu