รีเซต

สธ.เผยขั้นตอนวัคซีนโควิด-19 ในหนู ไม่ใช่เรื่องง่าย เตรียมทดลองในลิง และคน

สธ.เผยขั้นตอนวัคซีนโควิด-19 ในหนู ไม่ใช่เรื่องง่าย เตรียมทดลองในลิง และคน
มติชน
7 มิถุนายน 2563 ( 11:38 )
125
สธ.เผยขั้นตอนวัคซีนโควิด-19 ในหนู ไม่ใช่เรื่องง่าย เตรียมทดลองในลิง และคน

สธ.เผยขั้นตอนวัคซีนโควิด-19 ในหนู ไม่ใช่เรื่องง่าย เตรียมทดลองในลิง และคน

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยขั้นตอนการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในหนูที่ได้รับวัคซีนต้นแบบโควิด-19 ด้วยวิธี plaque reduction neutralization test (PRNT) โดยเน้นย้ำถ้าเซรั่มในเลือดหนูทำให้มีการติดเชื้อลดลงอย่างน้อย 50% แสดงว่า วัคซีนต้นแบบมีภูมิคุ้มกันในการป้องกันเชื้อโรคได้ ซึ่งวัคซีนต้นแบบนี้จะนำไปทดลองในลิง และในคนต่อไป

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววัตถุ เป็นห้องปฏิบัติการในการควบคุมคุณภาพวัคซีนภาครัฐซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในระดับภูมิภาค สำหรับการวิจัยพัฒนาวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศ กรมวิทย์ฯ ได้ช่วยตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในหนูที่ได้รับวัคซีนต้นแบบ โดยวิธี plaque reduction neutralization test (PRNT) ซึ่งต้องทดสอบโดยใช้เชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใต้ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 การทดลองโดยนำ “เซรั่มจากเลือดหนู” ที่ได้รับวัคซีนต้นแบบมาเจือจางที่ระดับต่างๆ กัน จากนั้นนำมาผสมกับไวรัสโควิด-19 ก่อนนำไปใส่ลงในเซลล์แล้วนำไปบ่มในอุณหภูมิที่เหมาะสมนาน 6 วัน

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากนั้นนำไปย้อมสี และตรวจนับจำนวนไวรัส ถ้าเซรั่มในเลือดไม่มีภูมิคุ้มกัน เซลล์ก็จะติดเชื้อ 100% แต่ถ้าเซรั่มในเลือดมีภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันเชื้อได้ ไวรัสที่อยู่ในเซลล์ที่มีการติดเชื้อจะลดลงอย่างน้อย 50% ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ได้ ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสามารถป้องกันโรคได้ดีหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและยอมรับ ในการดูภูมิคุ้มกันขึ้นดีหรือไม่ดีนั้น สามารถดูได้จากการเจือจางซีรั่ม ถ้าเจือจางมากและพบการทำลายเชื้อไวรัสโดยภูมิคุ้มกันในเซรั่มลดลง 50% แสดงว่า มีภูมิคุ้มกันสูงในหนู ซึ่งวัคซีนต้นแบบของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ส่งมาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบว่า สามารถเจือจางเซรั่มไปถึง 500 เท่า ยังสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ แสดงว่าในเซรั่มหนูมีภูมิคุ้มกันสูงต่อไวรัสโควิด-19 ขั้นตอนต่อไปวัคซีนต้นแบบนี้จะนำไปทดลองในลิงและในคนต่อไป

“ส่วนในประเด็นเรื่องของการจะได้ใช้วัคซีนเมื่อไหร่นั้น เป็นเรื่องของอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งบางประเทศรายงานเร็วที่สุดต้นปี 2564 บางประเทศรายงานปลายปี 2564 ซึ่งการวิจัยพัฒนาวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละขั้นตอนต้องทดสอบในสิ่งมีชีวิตทำให้ผลที่ได้มีความแปรปรวนของการทดสอบ จึงคาดการณ์ได้ยากว่าวัคซีนที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลนั้น จะสำเร็จได้เมื่อใด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพทั้งบุคลากรและเทคโนโลยีที่ไม่ได้เป็นรองนานาชาติมากนัก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาคอุดมศึกษาต่างๆ มีความพร้อม เพียงแต่เราไม่สามารถดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวได้อย่างครบวงจร จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 จนประสบความสำเร็จได้” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง