ทัพเรือสหรัฐฯ ทดสอบโดรนใหม่ที่ปรับใบพัดขึ้นลงแนวดิ่งให้เป็นปีกเครื่องบินได้ !
กองทัพเรือสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทดสอบเอกซ์พีโฟร์ (X-P4) อากาศยาน eVTOL แบบ 4 ใบพัด (Quadcopter) สามารถขึ้นลงในแนวดิ่งได้ และเมื่อเริ่มการบิน (Cruise) จะกางแกนยึดใบพัดให้กลายเป็นปีกแบบเครื่องบินทั่วไป หลังจากเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
โดรนไฮบริดที่เปลี่ยนรูปแบบการบินได้
เอกซ์พีโฟร์ (X-P4) พัฒนาโดย เทโรไดนามิกส์ (Pterodynamics) สตาร์ตอัปด้าน eVTOL หรืออากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งพลังงานไฟฟ้าจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยต้นแบบล่าสุดมีความยาวแนวปีก (Wingspan) อยู่ที่ 13 ฟุต หรือประมาณ 4 เมตร รับสัมภาระได้สูงสุด 15 ปอนด์ หรือประมาณ 6.8 กิโลกรัม ที่น้ำหนักขึ้นบิน (maximum takeoff weight) สูงสุด 84 ปอนด์ หรือประมาณ 38 กิโลกรัม รวมตัวเครื่อง บินได้ไกลสูงสุด 60 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 111 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 60 นอต หรือประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดรนไฮบริดที่เปลี่ยนรูปแบบการบินได้ทางเทโรไดนามิกส์เรียกว่า ทรานส์วิง (Transwing) สามารถขึ้นบินและลงจอดแบบอัตโนมัติได้ด้วยเช่นกัน โดยการขึ้นบินจะอยู่ในรูปแบบโดรน 4 ใบพัด ในแนวดิ่ง และปรับเปลี่ยนโดยการกางแกนใบพัดทั้งสองฝั่งให้กลายเป็นปีกเครื่องบิน ก่อนบินไปยังจุดหมาย และลงจอดในรูปแบบ eVTOL เช่นกัน
การทดสอบโดรนไฮบริดที่เปลี่ยนรูปแบบการบินได้
การทดสอบนั้นจัดขึ้นโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ บนเรือยูเอสเอ็นเอส เบอร์ลิงตัน (USNS Burlington) เรือขนส่งความเร็วสูงของกองทัพ โดยในการทดสอบจะให้ X-P4 ขึ้นบินออกจากเรือ แล้วบินกลับมาจอดบนเรือที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ ซึ่งการทดสอบประสบความสำเร็จด้วยดี
กองทัพเรือต้องการโดรนที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการขนส่ง ทั้งจากเรือสู่บนฝั่ง (ship-to-shore) จากบนฝั่งสู่เรือ (shore-to-ship) หรือรวมไปถึงการขนส่งระหว่างเรือด้วยกัน (ship-to-ship) ด้วยโดรน ดังนั้น โดรนในรูปแบบที่เปลี่ยนรูปแบบการบินจาก eVTOL เป็นเครื่องบินได้จะยกระดับการขนส่งทั้ง 3 รูปแบบ ของกองทัพได้ ด้วยการบินที่ไกลขึ้นของโดรน ในราคาที่ยังต่ำกว่าการใช้เฮลิคอปเตอร์
ในขณะเดียวกัน ทางเทโรไดนามิกส์เองก็เตรียมพัฒนารุ่นที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้ เช่น X-P5 ที่ปีกยาวขึ้นเป็น 6.7 เมตร รับน้ำหนักได้มากขึ้นเป็น 23 กิโลกรัม ขยายระยะการบินเป็น 925 กิโลเมตร หรือแม้แต่รุ่น X-P6 ซึ่งทำให้ปีกยาวถึง 9.1 เมตร รับน้ำหนักได้สูงสุด 100 กิโลกรัม และขยายระยะการบินถึง 1,574 กิโลเมตร ในอนาคต
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ Pterodynamics