ปธ.โตโยต้า หวัง ไทยผู้นำฟื้นตัวในเอเชีย คาดตลาดรถยนต์ในปท.ปีนี้6.6แสนคัน
โตโยต้าแถลงยอดขายตลาดรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2563 พร้อมคาดการณ์ตลาดรวมอยู่ที่ 660,000 คัน
นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2563 พร้อมประมาณการตลาดรถยนต์ไทยปี 2563 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ผ่านทางออนไลน์
นายซึงาตะ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ดำเนินโครงการ “Toyota Stay with You” หรือ “โตโยต้าเคียงคู่ไทย สู้ภัยโควิด-19″ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าและผู้ผลิตชิ้นส่วนทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความยากลำบากของพี่น้องประชาชนและสังคมไทย จนกว่าสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้จะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่า “จะไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง”
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและระดับโลก ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศและส่งออกหดตัวในช่วงไตรมาส 1 และต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ทั้งนี้จากการผ่อนปรนให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องภายใต้มาตรการที่ภาครัฐกำหนด มีการคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น”
1. สถานการณ์ตลาดรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2563
นายซึงาตะ กล่าวว่า “ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เดิมมีการคาดการณ์ตลาดรวมในประเทศของปี 2563 อยู่ที่ 940,000 คัน และตั้งเป้าหมายการขายรถยนต์โตโยต้าไว้ที่ 310,000 คัน แต่ทว่าในสถานการณ์ไตรมาสที่ 1 ตัวเลขยอดขายตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 200,000 คัน หรือคิดเป็น 76% ของยอดขายในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยโตโยต้ามียอดขายอยู่ที่ 56,200 คัน คิดเป็น 65% ของยอดขายในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา จากการที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการของตลาดลดลงอย่างฉับพลัน ทั้งตลาดรถยนต์ในประเทศและตลาดการส่งออก ทำให้สภาวะการดำเนินธุรกิจของประเทศไทยโดยรวมนั้น มีความแตกต่างออกไปจากแผนที่เราคาดการณ์ไว้โดยสิ้นเชิง
สำหรับโตโยต้า เราจำเป็นต้องประกาศหยุดสายการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน จนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ประกอบกับลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมโชว์รูมผู้แทนจำหน่ายฯมีปริมาณลดลง อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่เราต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราวนั้น พนักงานของเรายังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง และได้ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงการพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงาน โดยให้มีการสลับกันเข้ามาปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสำหรับพนักงานสายสำนักงาน เราจัดให้มีการทำงานจากที่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งหมดนี้ ช่วยให้โตโยต้าสามารถรักษาสถานะการจ้างงานของพนักงานทุกคนโดยไม่มีการเลิกจ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผมขอขอบคุณพนักงานโตโยต้าทุกคนที่ได้ร่วมกันทุ่มเททำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง ตลอดจนรักษาสุขภาพของตนเองให้ปลอดภัยและแข็งแรงอยู่เสมอ
เช่นเดียวกันกับผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั้ง 155 แห่งทั่วประเทศ ที่พยายามรักษาสถานะการจ้างงานของพนักงานทุกคน โดยพนักงานขายและพนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลหลังการขายได้ใช้ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียในการติดต่อลูกค้า พร้อมเชิญลูกค้านำรถยนต์เข้ามาซ่อมบำรุงที่ศูนย์บริการหรือจัดให้มีบริการซ่อมบำรุงแบบเคลื่อนที่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้าสามารถดูแลรักษารถยนต์ของตนเองได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้แทนจำหน่ายของเราจากใจจริงด้วยครับ
นอกจากนี้ ผมขอแสดงความซาบซึ้งใจต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการและฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจังหวัดที่โรงงานทั้ง 3 แห่งของเราตั้งอยู่ สำหรับการอนุเคราะห์ให้เราสามารถดำเนินการจัดส่งรถยนต์ใหม่ ตลอดจนชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงระยะเวลาของการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวก็ตาม และท่านยังยินดีอนุญาตให้โตโยต้าสามารถกลับมาเดินสายการผลิตอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้เห็นพนักงานในโรงงานของเรามีความสุขที่ได้กลับมาทำงานอีกครั้ง โดยปัจจุบันการผลิตของเราก็สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น และตั้งใจที่จะเพิ่มยอดการผลิตให้สูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป โดยเราจะยังคงเน้นย้ำในการดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยขั้นสูงสุดให้กับพนักงานของเราทุกคน พร้อมรักษาระดับความเข้มงวดของการใช้มาตรการการป้องกันโรค ตามแนวทางของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด”
นายซึงาตะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ การหยุดสายการผลิตเป็นการชั่วคราวไปแล้วนั้น ตลาดรถยนต์ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ลดลงไปที่ประมาณ 128,500 คัน คิดเป็น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยโตโยต้ามียอดขายอยู่ที่ 38,100 คัน หรือคิดเป็น 45% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในทางกลับกันหากเราพิจารณาถึงยอดจำหน่ายรายเดือนของช่วงไตรมาสที่ 2 จะเห็นได้ว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วงค่อยๆฟื้นตัว อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น”
สถิติการขายรถยนต์ ม.ค. – มิ.ย. 2563
ปริมาณการขายรวม | 328,604 คัน | ลดลง 37.3% |
รถยนต์นั่ง | 119,716 คัน | ลดลง 42.0% |
รถเพื่อการพาณิชย์ | 208,888 คัน | ลดลง 34.2% |
รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) | 166,409 คัน | ลดลง 35.6% |
รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) | 149,432 คัน | ลดลง 33.7% |
สถิติการขายรถยนต์ของโตโยต้า ม.ค. – มิ.ย. 2563
ปริมาณการขายโตโยต้า | 94,222 คัน | ลดลง 45.1% | ส่วนแบ่งตลาด 28.7% |
รถยนต์นั่ง | 29,926 คัน | ลดลง 50.4% | ส่วนแบ่งตลาด 25.0% |
รถเพื่อการพาณิชย์ | 64,296 คัน | ลดลง 42.2% | ส่วนแบ่งตลาด 30.8% |
รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) | 56,265 คัน | ลดลง 43.3% | ส่วนแบ่งตลาด 33.8% |
รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) | 49,622 คัน | ลดลง 41.5% | ส่วนแบ่งตลาด 33.2% |
2. แนวโน้มตลาดรถยนต์ของปี 2563
นายซึงาตะ คาดการณ์ว่า “ในส่วนของภาคธุรกิจยานยนต์ของประเทศไทยนั้น ผลกระทบที่เราได้รับยังถือว่าไม่รุนแรงเท่ากับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน และการฟื้นตัวของประเทศไทยดูจะรวดเร็วกว่า ดังนั้น แม้เราอาจจะยังไม่ควรที่จะประเมินสถานการณ์ให้สูงจนเกินไป แต่ผมเห็นว่าแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไทยน่าจะไปในทิศทางที่ดี และสถานการณ์จะไม่แย่เท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งผมหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวให้กับทวีปเอเชียทั้งหมดในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ นอกจากแนวโน้มเชิงบวกที่เห็นได้จากยอดจำหน่ายรายเดือนแล้ว ประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ซึ่งในขณะนี้มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมาก และเมื่อพิจารณาสัญญาณบวกเหล่านี้แล้ว เราจึงได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในปี 2563 เป็น 660,000 คัน คิดเป็น 65% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”
นายซึงาตะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับโตโยต้า ในช่วงครึ่งปีแรกนั้น เราได้ปรับแผนการดำเนินงานทั้งในส่วนของการผลิตและการขาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ของเราสามารถแนะนำออกสู่ตลาดได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ เราจะเร่งเดินหน้าทำการตลาดอย่างเต็มที่ โดยมีผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ ของเราเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา เราได้เปิดตัวรถยนต์ไฮลักซ์ รีโว่ใหม่ และฟอร์จูนเนอร์ใหม่ ภายใต้แนวคิด “Unbeatable” หรือ “พลังแกร่งเหนือนิยาม” เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์อันแข็งแกร่งของประเทศไทยและคนไทย ดังที่พิสูจน์ได้จากความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคได้ โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ของเราทั้ง 2 รุ่นนี้ ได้รับการชื่นชมในเชิงบวกจากลูกค้า ซึ่งเราหวังว่าการเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นยอดขายให้สูงขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เราได้ทำการเปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุด “โคโรลล่า ครอส” ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก ภายใต้สโลแกน “A New Journey” หรือ “ให้ชีวิตเดินทาง” โดยรถยนต์รุ่นนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเรา ในฐานะที่เป็นรถยนต์ในเซกเมนต์ที่โตโยต้าไม่เคยทำตลาดมาก่อน พร้อมกันนี้ ผมขอแจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่า เราได้ติดตั้งแอพพลิเคชั่น T-Connect ในรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งสามรุ่นดังกล่าว โดยนี่ถือเป็น “ระบบการเชื่อมต่ออัจฉริยะ” โครงการแรกของโตโยต้าในเอเชีย ซึ่งเกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่าง บริษัท โตโยต้า และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนโตโยต้าภายในประเทศไทย ทั้งนี้ เทคโนโลยี T-Connect มอบฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบติดตามเมื่อเกิดการโจรกรรม การค้นหาตำแหน่งรถ และบริการผู้ช่วยส่วนตัว
ยิ่งไปกว่านั้น เรายังเป็นรายแรกในประเทศไทยที่นำเสนอประกันภัยรูปแบบใหม่ล่าสุดภายใต้ชื่อ “ขับดีลดให้” หรือ “Toyota Care Pay How You Drive – PHYD” ซึ่งจะติดตามพฤติกรรมการขับขี่ผ่านเทคโนโลยี T-Connect กรณีที่ผู้ขับมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ดี ก็จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยในปีที่ 2 เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประกันภัย “ขับดีลดให้” นี้จะเป็นแรงจูงใจที่ดีในการผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการขับขี่ปลอดภัยและช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุในประเทศไทย
และเรามีความยินดีที่ได้เห็นว่ารถรุ่นต่างๆ ที่ได้ทำการเปิดตัวไปนั้น ได้รับความสนใจและดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมบูทโตโยต้า ภายในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ที่กำลังจัดอยู่ในครั้งนี้ได้เป็นจำนวนมาก และมั่นใจว่าด้วยการประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ จะผลักดันให้เราสามารถกลับมาครองพื้นที่ในตลาดได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง ตลอดจนสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่หลากหลายรุ่นนั้น ส่งผลให้เราปรับเป้าหมายยอดจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าในปี 2563 นี้ใหม่เป็น 220,000 คัน คิดเป็น 66% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือเท่ากับ 33.3% ของส่วนแบ่งทางการตลาด หากในอนาคตตลาดมีแนวโน้มในเชิงบวกมากขึ้น เราก็จะท้าทายตัวเองด้วยการปรับเป้าหมายให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก”
ประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศ ปี 2563
ปริมาณการขายรวม | 660,000 คัน | ลดลง 34.5% |
รถยนต์นั่ง | 225,100 คัน | ลดลง 43.5% |
รถเพื่อการพาณิชย์ | 434,900 คัน | ลดลง 28.6% |
รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) | 346,015 คัน | ลดลง 29.7% |
รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) | 310,000 คัน | ลดลง 28.2% |
ประมาณยอดขายรถยนต์ในประเทศของโตโยต้า ปี 2563
ปริมาณการขายโตโยต้า | 220,000 คัน | ลดลง 33.8% | ส่วนแบ่งตลาด 33.3% |
รถยนต์นั่ง | 62,800 คัน | ลดลง 46.6% | ส่วนแบ่งตลาด 27.9% |
รถเพื่อการพาณิชย์ | 157,200 คัน | ลดลง 26.8% | ส่วนแบ่งตลาด 36.1% |
รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) | 135,600 คัน | ลดลง 29.3% | ส่วนแบ่งตลาด 39.2% |
รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) | 121,000 คัน | ลดลง 26.9% | ส่วนแบ่งตลาด 39.0% |
สำหรับการส่งออกในครึ่งปีแรก 2563 ของโตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวนทั้งสิ้น 97,000 คัน ลดลง 30% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เราได้เห็นสัญญาณเชิงบวกจากในภูมิภาคโอเชียเนียและบางประเทศในทวีปเอเชีย ด้วยเหตุนี้ เราจึงปรับการคาดการณ์การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปสำหรับปีนี้ทั้งปี อยู่ที่ 194,000 คัน หรือคิดเป็น 73% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในส่วนของการผลิตรถยนต์ของเรานั้น ก็เป็นไปตามสภาวะของตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเหนือกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้ ดังนั้น จำนวนการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าในปี 2563 จะอยู่ในระดับที่ 408,000 คัน คิดเป็น 71% เมื่อเทียบกับยอดการผลิตของปีที่ผ่านมา”
นายซึงาตะ กล่าวเสริมว่า “ท่ามกลางการเผชิญความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผมขอยกย่องประเทศไทยและคนไทย ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงจิตวิญญานอันแรงกล้าและพลังแห่งความสามัคคีอันกล้าแกร่ง ผมหวังว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศแรกๆ ที่สามารถเอาชนะวิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ได้ ซึ่งครอบครัวโตโยต้าในประเทศไทยก็พร้อมที่จะช่วยขับเคลื่อนภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จ ควบคู่ไปกับการสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของไทย”
นายซึงาตะ กล่าวปิดท้ายว่า “จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทั้งรัฐบาลไทย ลูกค้าคนสำคัญของเรา ตลอดจนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับการสนับสนุนที่ท่านได้กรุณามอบให้กับพวกเราชาวโตโยต้าในประเทศไทยมาโดยตลอด แม้ในช่วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้ก็ตาม
เรายังคงยืนหยัดเดินหน้าตามแนวทางสากลของโตโยต้าในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของการผลิตและส่งออกรถยนต์ในระดับภูมิภาค ตลอดจนเดินหน้าสร้างความเจริญเติบโตให้กับธุรกิจของโตโยต้าในประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป”
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมิถุนายน 2563
1. ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 58,013 คัน ลดลง 32.6%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 16,661 คัน | เพิ่มขึ้น 26.1% | ส่วนแบ่งตลาด 28.7% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 13,366 คัน | ลดลง 53.8% | ส่วนแบ่งตลาด 23.0% |
อันดับที่ 3 ฮอนด้า | 5,822 คัน | ลดลง 52.1% | ส่วนแบ่งตลาด 10.0% |
2. ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 20,768 คัน ลดลง 41.3%
อันดับที่ 1 ฮอนด้า | 4,816 คัน | ลดลง 47.4% | ส่วนแบ่งตลาด 23.2% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 4,802 คัน | ลดลง 50.7% | ส่วนแบ่งตลาด 23.1% |
อันดับที่ 3 ซูซูกิ | 1,776 คัน | ลดลง 13.1% | ส่วนแบ่งตลาด 8.6% |
3. ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 37,245 คัน ลดลง 26.4%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 16,661 คัน | เพิ่มขึ้น 26.1% | ส่วนแบ่งตลาด 44.7% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 8,564 คัน | ลดลง 55.4% | ส่วนแบ่งตลาด 23.0% |
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ | 2,562 คัน | ลดลง 34.1% | ส่วนแบ่งตลาด 6.9% |
4. ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน* (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV) ปริมาณการขาย 29,576 คัน ลดลง 26.7%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 15,368 คัน | เพิ่มขึ้น 29.7% | ส่วนแบ่งตลาด 52.0% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 7,375 คัน | ลดลง 57.2% | ส่วนแบ่งตลาด 24.9% |
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ | 2,562 คัน | ลดลง 34.1% | ส่วนแบ่งตลาด 8.7% |
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน: 2,992 คัน
โตโยต้า 1,262 คัน – มิตซูบิชิ 553 คัน – อีซูซุ 500 คัน – นิสสัน 337 คัน – ฟอร์ด 312 คัน – เชฟโรเลต 28 คัน
5. ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 26,584 คัน ลดลง 25%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 14,868 คัน | เพิ่มขึ้น 33.7% | ส่วนแบ่งตลาด 55.9% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 6,113 คัน | ลดลง 58.8% | ส่วนแบ่งตลาด 23.0% |
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ | 2,009 คัน | ลดลง 26.6% | ส่วนแบ่งตลาด 7.6% |
สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563
1. ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 328,604 คัน ลดลง 37.3%
อันดับที่ 1 โตโยต้า | 94,222 คัน | ลดลง 45.1% | ส่วนแบ่งตลาด 28.7% |
อันดับที่ 2 อีซูซุ | 76,054 คัน | ลดลง 14.7% | ส่วนแบ่งตลาด 23.1% |
อันดับที่ 3 ฮอนด้า | 41,326 คัน | ลดลง 36.1% | ส่วนแบ่งตลาด 12.6% |
2. ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 119,716 คัน ลดลง 42%
อันดับที่ 1 ฮอนด้า | 34,518 คัน | ลดลง 29.4% | ส่วนแบ่งตลาด 28.8% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 29,926 คัน | ลดลง 50.4% | ส่วนแบ่งตลาด 25.0% |
อันดับที่ 3 นิสสัน | 12,641 คัน | ลดลง 36.9% | ส่วนแบ่งตลาด 10.6% |
3. ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 208,888 คัน ลดลง 34.2%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 76,054 คัน | ลดลง 14.7% | ส่วนแบ่งตลาด 36.4% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 64,296 คัน | ลดลง 42.2% | ส่วนแบ่งตลาด 30.8% |
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ | 15,416 คัน | ลดลง 38.6% | ส่วนแบ่งตลาด 7.4% |
4. ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน* (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV) ปริมาณการขาย 166,409 คัน ลดลง 35.6%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 70,573 คัน | ลดลง 13.9% | ส่วนแบ่งตลาด 42.4% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 56,265 คัน | ลดลง 43.3% | ส่วนแบ่งตลาด 33.8% |
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ | 15,416 คัน | ลดลง 38.6% | ส่วนแบ่งตลาด 9.3% |
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน: 16,977 คัน
โตโยต้า 6,643 คัน – มิตซูบิชิ 3,818 คัน – อีซูซุ 2,948 คัน – ฟอร์ด 2,098 คัน – นิสสัน 832 คัน – เชฟโรเลต 638 คัน
5. ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 149,432 คัน ลดลง 33.7%
อันดับที่ 1 อีซูซุ | 67,625 คัน | ลดลง 11.5% | ส่วนแบ่งตลาด 45.3% |
อันดับที่ 2 โตโยต้า | 49,622 คัน | ลดลง 41.5% | ส่วนแบ่งตลาด 33.2% |
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ | 11,598 คัน | ลดลง 36.3% | ส่วนแบ่งตลาด 7.8% |