รีเซต

รพ.จุฬาภรณ์ ผลิต "ยาฟาวิพิราเวียร์" แบบน้ำเชื่อมในเด็ก-ผู้สูงอายุ เป็นตำรับแรกในไทย

รพ.จุฬาภรณ์ ผลิต "ยาฟาวิพิราเวียร์" แบบน้ำเชื่อมในเด็ก-ผู้สูงอายุ เป็นตำรับแรกในไทย
TNN ช่อง16
5 สิงหาคม 2564 ( 13:25 )
144
รพ.จุฬาภรณ์ ผลิต "ยาฟาวิพิราเวียร์" แบบน้ำเชื่อมในเด็ก-ผู้สูงอายุ เป็นตำรับแรกในไทย

วันนี้ (5 ส.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกนี้ พบการระบาดในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาในการกลืน "ยาฟาวิพิราเวียร์" โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนจึงพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์แบบน้ำเชื่อมให้เด็กและผู้สูงอายุรับยาต้านไวรัสได้เร็วขึ้น

ส่วนความคืบหน้าการให้วัคซีนซิโนฟาร์มในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อยื่นให้กับ อย.ในการพิจารณา คาดว่าจะผ่านได้ในเร็วๆ นี้

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวเปิดตัวตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับต้านเชื้อในเด็ก และผู้ที่มีความยากลำบากในการกลืนเม็ดยา หลังสถานการณ์การระบาดระลอกนี้ และส่วนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเด็กค่อนข้างมาก ภาพรวมพบเด็กติดเชื้อ 10% จากคนไข้ทั้งหมด

โดยเมื่อติดเชื้อแล้วการรักษาไม่ให้อาการหนักจำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ด้วยความรวดเร็วภายใน 4 วันหลังเริ่มมีอาการ ก็จะช่วยลดความรุนแรง และลดการเสียชีวิตได้  

"สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการใช้ยา โดยทั่วโลกตอนนี้ มียาไม่กี่ชนิดที่ใช้ได้ หนึ่งในนั้น คือ การใช้ยาต้านไวรัส คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการลดความรุนแรงของโรค ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่มีการเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2014 ที่ญี่ปุ่น ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ใช้มานานแล้ว และมีการประกาศในองค์การอนามัยโลก สามารถใช้รักษาโรคอีโบล่า" เลขาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าว


ศ.นพ.นิธิ กล่าวต่อว่า ในจำนวนผู้ป่วยเด็กทั้งหมดมีจำนวน 1 ใน 3 ที่จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็ก ขณะนี้ต้องใช้วิธีการบดยาละลายน้ำ มีข้อจำกัดยามีตะกอน ปริมาณยาที่ได้รับไม่แน่นอน มีรสชาติขม ติดลิ้น ทำให้เด็กกลืนยาก แต่สำหรับยาน้ำเชื่อมที่ผลิตขึ้นใช้ได้เลย ปริมาณยาคงที่ และกินง่าย ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์สามารถใชัในเด็กอายุต่ำกว่า 5-7 ปี หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ดได้ 

สำหรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ 1 ขวด บรรจุ 60 ซีซี วิธีใช้ตามคำสั่งแพทย์ รับประทานขณะท้องว่างวันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง โดยควรเก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาฯ เมื่อจ่ายยาไปแล้ว ยาจะมีอายุแค่ 30 วัน ไม่แนะนำให้เก็บยาไว้นาน เนื่องจากตัวยาจะหมดประสิทธิภาพ และย้ำว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากจะต้องมีการติดตามอาการ 


ข้อมูลจาก พญ.ศรัยอร ธงอินเนตร และพญ.ครองขวัญ เนียมสอน ทีมกุมารแพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ฯ ระบุว่า ขนาดยาที่ใช้ในเด็กค่อนข้างเยอะมีการใช้ 70 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเด็ก 10 กิโลกรัม จะใช้ทาน 1 เม็ดกับอีก 1 ส่วน 4 ของเม็ดยาในการให้

ส่วนตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สัดส่วนในการให้ยากับเด็กจะขึ้นอยู่กับขนาดน้ำหนักและช่วงวัยของเด็ก ส่วนใหญ่การให้ยาในเด็ก ในวันแรกจะถูกให้ยาจำนวนมากตามสัดส่วน หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง เบื้องต้นเป็นเวลา 5 -10 วัน

ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ในคนไข้เด็กของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ช่วงอายุ 8 เดือนถึง 5 ปี จำนวน 12 ราย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการติดตามการรักษา พบว่า ผลตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง 


สำหรับกำลังการผลิตยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขณะนี้ สามารถผลิตและแจกจ่ายให้ผู้ป่วยประมาณ 300 คนต่อสัปดาห์ 

ในอนาคตหากโรงพยาบาลใดที่มีความพร้อมในการผลิต สามารถขอสูตรตำรับยาดังกล่าวไปผลิตได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเรื่องคุณภาพ ส่วนแพทย์ หรือสถานพยาบาล สามารถขอรับยาได้ผ่านทางช่องทาง www.favipiravir.cra.ac.th ได้ 

จากข้อมูลในการดูแลเด็กที่ติดเชื้อโควิดในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่า ที่ผ่านมาเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 ถึง 3 เท่า  ตอนนี้ดูแลเด็กอยู่ประมาณ 80 คน ตั้งแต่อายุ 3 เดือนจนถึง 15 ปี ส่วนใหญ่ เมื่อติดเชื้อแล้ว เด็กจะมีอาการน้อย และอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่

แนะนำผู้ปกครองหากเด็กอยู่ระหว่างรอเข้าระบบการรักษา ขอให้รักษาอาการเบื้องต้น เหมือนกับรักษาอาการหวัดโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามเมื่อเด็กหายป่วยจากโควิดแล้ว ยังควรต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอีก 1 เดือน 

ด้าน ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ ที่ปรึกษา รพ.จุฬาภรณ์ และ รศ.ภก.ดร.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ยาสูตรน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ปราศจากน้ำตาล เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กเล็ก และผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน หรือผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยางในเวชปฏิบัติ

ปัจจุบันการให้ยาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องบดผสมน้ำเชื่อมน้ำหวานที่เตรียมใหม่ให้ผู้ป่วย แต่อาจจะมีข้อจำกัดของคนใช้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาในครั้งนี้ อย่งไรก็ตามตัวยาชนิดนี้ อาจจะไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกรายซึ่งจะมีการพิจารณาให้ยาเป็นรายๆ ไป สำหรับวัตถุดิบในการผลิตตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ เบื้องต้นเป็นการติดต่อนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศ 


ทางด้านบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ทีมพัฒนาร่วม  ระบุว่า การพัฒนาสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียได้รับโจทย์สำคัญ ว่าจะต้องทำเป็นยาน้ำที่ผลิตได้ในโรงพยาบาล โดยทางเทคโนโลยีเภสัชกรร ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติทางเคมีโดยมีการตั้งสูตรตำรับเป็นสูตรสากล มีการกำหนดคุณภาพ ตั้งสูตรตามตำรับสากลทุกอย่าง รวมถึงมีการควบคุมคุณภาพจากคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์ 

ทางคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยัน มีคุณภาพมาตรฐาน โดยมีกระบวนการควบคุมยาที่ได้ตั้งมาตรฐานที่สำคัญตามหลักมาตรฐานสากล มีการตรวจสอบ เช่น ปริมาณตัวยาสำคัญ สารเสื่อมสลาย และอื่นๆ 

ขณะที่การพิจารณาให้วัคซีนซิโนฟาร์มในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ระบุว่า อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเอกสาร เพื่อยื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน เนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศต้นของการผลิตวัคซีนได้มีการขยายให้วัคซีนในเด็กกลุ่มนี้ไปแล้ว โดยตอนนี้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รอเอกสารให้ครบถ้วนเพื่อยื่นให้กับ อย.ไทย 


ส่วนข้อเสนอแนะในการให้วัคซีนในเด็ก ศ.นพ.นิธิ มองว่า คนใดคนหนึ่งในสังคมได้วัคซีนแต่มีคนที่ยังไม่ได้ ไปไม่รอด เพราะฉะนั้นคนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยควรจะได้รับวัคซีนในปริมาณที่เร็วและจำนวนครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ถึงจะรอด 

สิ่งหนึ่งที่มีข้อมูลในต่างประเทศที่ยังไม่ได้พูดถึง คือ ในหลายประเทศการติดเชื้อเกิดจากคนที่ไม่ได้รับวัคซีนและนำมาแพร่เชื้อต่อ โดยสังคมไทยจะรอดจากการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงได้ คือ ประชากรจะต้องได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนมากและเร็วที่สุด 

ในกลุ่มเด็กก็ควรเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับวัคซีน จะเห็นว่าในการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มในช่วงแรก มีการจัดสรรให้ในกลุ่มสถานศึกษาก่อน เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่า ถ้าหากตอนนั้นโรงเรียนเปิดเทอม อาจมีการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ขณะเดียวกัน เมื่อเด็กติดเชื้อก็จะมีอาการน้อย ไม่แสดงอาการและอาจจะไปแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อ 

ขณะนี้มีวัคซีนหลายชนิดที่เดิม มีการศึกษาไปจนถึงเด็กอายุ 3 เดือนแล้ว มองว่าอนาคต อาจจะมีวัคซีนที่ครอบคลุมในเด็กทุกช่วงวัย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง