รีเซต

ทำความรู้จัก ทางด่วนไร้ไม้กั้น ไม่ต้องเสียเวลาชะลอรถเพื่อจ่ายเงินอีกต่อไป

ทำความรู้จัก ทางด่วนไร้ไม้กั้น ไม่ต้องเสียเวลาชะลอรถเพื่อจ่ายเงินอีกต่อไป
TNN ช่อง16
30 พฤศจิกายน 2563 ( 09:30 )
197
ทำความรู้จัก ทางด่วนไร้ไม้กั้น ไม่ต้องเสียเวลาชะลอรถเพื่อจ่ายเงินอีกต่อไป

     ต้องยอมรับว่าปริมาณรถยนต์ส่วนตัวในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการมีรถส่วนตัว สะดวกสบายกว่า โดยเฉพาะหากต้องเดินทางไกลๆอยากจะแวะหรือจะจอดพักเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรที่ติดขัด ไม่เว้นแม้แต่ในทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์  ยิ่งวันหยุดยาวไม่ต้องพูดถึง ต้องอดทนกันจนกว่าจะหลุดช่วงวิกฤตออกมาได้เลยทีเดียว 

        กระทรวงคมนาคมจึงมีไอเดียที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ โดยมีโครงการที่จะนำร่อง การเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ฟรีโฟลว์) ที่ขณะนี้กระทรวงฯเตรียมความพร้อมจะนำระบบเก็บค่าผ่านทางอัจฉริยะรูปแบบใหม่หรือ AI เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วน และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ อีกทั้งเพื่อลดความแออัดของรถบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางด้วย


ระบบเก็บค่าทางด่วนอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น คืออะไร? 

        ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นแทนระบบเดิมนี้   กรมทางหลวง(ทล.)  จะนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ เพื่อเช็กข้อมูลของรถยนต์ที่ใช้บริการทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์ แทนที่จะต้องใช้ระบบแสกนบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางปกติที่ใช้อยู่  ซึ่งระบบนี้จะทำให้ผู้ใช้รถยนต์สามารถขับขี่ผ่านบริเวณด่านฯได้โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถเพื่อจ่ายค่าผ่านทาง 

ความคืบหน้าโครงการไปถึงไหน? 

       กรมทางหลวง(ทล.) ได้เดินหน้ารูปแบบโครงการนี้มาสักพักใหญ่แล้ว โดยล่าสุด ได้เปิดให้เอกชนเข้ามาประกวดราคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเอกชนที่ชนะการประมูลจะเป็นผู้วางระบบและดูแลบริหารจัดการระบบ ซึ่งตามแผนงานที่วางไว้จะเริ่มให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนเพื่อขอเข้ารับบริการได้ประมาณกลางเดือนธันวาคมนี้ 

นำร่องมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 ต้นเดือน มกราคม 2564

        กรมทางหลวง เตรียมจะนำร่องใช้ระบบทางด่วนแบบไร้ไม้กั้น บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ในช่วงต้นเดือน มกราคม 2564 นี้ก่อนเส้นทางอื่น โดยจะมีด่านนำร่องจำนวน 4 ด่าน ได้แก่

  • ด่านทับช้าง 1 ขาออก 4 ช่องจราจร
  • ด่านทับช้าง 2 ขาเข้า 4 ช่องจราจร
  • ด่านธัญบุรี 1ขาเข้า 4 ช่องจราจร
  • ด่านธัญบุรี 2 ขาออก 4 ช่องจราจร


        ส่วนมอเตอร์เวย์ สาย 7 สาย กทม.-พัทยา-มาบตาพุด จะเริ่มใช้ภายในสิ้นปี 2564 โดยจะชำระค่าผ่านทางผ่านระบบโมบายแอปพลิเคชันของระบบ M-Flow และหลังจากนั้นจะใช้ระบบ M-Flow ในทุกเส้นทางของมอเตอร์เวย์ และเส้นมอเตอร์เวย์ สายบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว จะเป็นเส้นทางแรกที่ใช้ระบบ M-Flow เชื่อมต่อกับทางด่วน พระราม3-ดาวคะนอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แบบไร้รอยต่อ

คิดเงินค่าทางด่วนอย่างไร? 

        การว่าจ้างเอกชนที่มาดูแลระบบนี้ จะคิดอัตราค่าตอบแทนเฉลี่ยที่ 2 บาท/คัน โดยเอกชนจะประกันรายได้ให้กรมทางหลวงทุกคัน  ส่วนการชำระค่าธรรมเนียมทางด่วนของประชาชนนั้น  จะคิดผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หลังการใช้บริการ หรือ ระบบ Post Paid ทั้งแบบชำระเป็นรายครั้ง หรือชำระตามรอบบิล รวมไปถึงการชำระผ่านเว็บไซต์ หรือ M-Flow นั่นเอง  รวมไปถึงยังสามารถชำระด้วยระบบ QR Code และการชำระผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติ ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบสากล ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น ประเทศในแถบยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น 

 กทพ.มั่นใจ พร้อมเปิดใช้ระบบในเดือนมิถุนายน 2564  

        นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะเข้ารายงานความคืบหน้าของโครงการวันนี้ ( 30 พ.ย.) ในที่ประชุมร่วมระหว่าง กรมทางหลวง (ทล.) และ กทพ. ซึ่งมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการนำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ แบบไม่มีไม้กั้น

        ซึ่งผู้ว่า กทพ.มั่นใจว่า มีความพร้อมที่จะนำระบบมาใช้ในเดือน มิถุนายน 2564  โดย กทพ.จะนำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น ในระยะแรกที่ด่านฯ จตุโชติ, ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านฯ รามอินทรา ของทางพิเศษฉลองรัช รวมถึงนำไปใช้กับทางพิเศษที่ กทพ.กำลังก่อสร้าง คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก และโครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 

         "ยอมรับว่าในการดำเนินการนำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นนี้ ในส่วนของ กทพ.มีอุปสรรคบ้าง เช่น ปัญหากรณีที่จะดำเนินการปรับผู้ใช้ทาง ที่หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าผ่านทาง ซึ่งในส่วนนี้การดำเนินการ ยังไม่มีประกาศกฎกระทรวงฯ รองรับซึ่งจะทำให้ กทพ.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่ชัดเจน  ส่วนที่ 2 คือการที่ กทพ.จะต้องมีการปรับระบบจัดเก็บพอสมควร เนื่องจากที่ผ่านมาการเก็บค่าผ่านทางของ กทพ. เป็นระบบที่เก็บก่อนการใช้บริการ หรือ Prepaid หรือระบบเติมเงินก่อนใช้แบบ Easy Pass แต่การเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นนี้ จะมีลักษณะของการใช้บริการไปก่อน แล้วจึงเรียกเก็บค่าผ่านทาง หรือ Postpaid ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางบ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะทันตามกำหนดเวลาที่จะเริ่มนำร่องในด่านฯ ที่เป็นเป้าหมาย ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม"ผู้ว่า กทพ. กล่าว

ช่วยให้การเดินทางบนทางด่วย-มอเตอร์เวย์คล่องตัวขึ้น

        ปัจจุบันทางพิเศษสาย 9 มีรถใช้บริการผ่านด่านประมาณ 300,000 คัน/วัน ซึ่งเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นนี้ กระทรวงคมนาคมคาดว่า จะทำให้ผู้ใช้รถยนต์สามารถขับขี่ผ่านบริเวณด่านฯ โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ  ด้วยความเร็วได้ถึง 160 กม./ชม. ช่วยระบายรถได้ 2,000-2,500 คัน/ชม./ช่องทาง  รวมทั้งจะช่วยให้ผู้ใช้ทางผ่านบริเวณด่านสามารถทำความเร็วขึ้นกว่าระบบเดิมที่ใช้อยู่ถึง 5 เท่า  โดยระบบรองรับการใช้งานกับรถยนต์ทุกประเภท ที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือทางพิเศษ ทั้งรถยนต์ 4 ล้อ รถยนต์ 6 ล้อ และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป  


         
        ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อตัดปัญหาเรื่องรถติดบนทางด่วนไปได้ ก็เชื่อว่าการเดินทางจะไม่เป็นอุปสรรคของประชาชนที่ต้องการออกไปท่องเที่ยวอีกต่อไป  ซึ่งผลพวงที่ได้ก็จะเกิดการใช้จ่าย มีเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบยิ่งขึ้น



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง