รีเซต

สรท.ลุ้นไทยฐานผลิตอีวีให้สหรัฐ ห่วงบาทแข็งแนะรบ.ไทยเกาะติด

สรท.ลุ้นไทยฐานผลิตอีวีให้สหรัฐ ห่วงบาทแข็งแนะรบ.ไทยเกาะติด
มติชน
9 พฤศจิกายน 2563 ( 03:02 )
84

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงกรณีการนายโจ ไดเบน ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 ว่า นโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกายังทำสงครามการค้ากับจีนอยู่ แต่รูปแบบอาจจะเปลี่ยนไปจากสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเปิดโอกาสทางการค้ามากขึ้น ทำข้อตกลงทางการค้า การกลับมาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มประเทศต่างๆ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐอเมริการจะกลับมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของความตกลงปารีสในแก้ไขปัญหาโลกร้อน นโยบายที่ออกกมาของนายโจ ไบเดน นั้น ยังไม่ส่งผลกระทบในทันทีกับทั้งไทย และประเทศอื่นๆ เนื่องจาก สหรัฐอเมริกาต้องผ่านขั้นตอนการกลับมาทำข้อตกลง ทำอนุสัญญา หรือการกลับมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กร ความร่วมมือต่างๆก่อน จึงจะใช้เรื่องเหล่านี้มาเจรจา หรือบังคับ อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิมนุษยชน กับประเทศอื่นๆได้

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า นโยบายของนายโจ ไบเดนที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอีกเรื่องหนึ่ง หากถามว่าใครผลิตสินค้าแล้วทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกได้ ทุกคนล้วนร่วมกันทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ากัน เมื่อกล่าวถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม มองในแง่สินค้าที่จะตอบโจทย์ ในกลุ่มของยานยนต์ คงต้องให้ความสนใจกับรถยนไฟฟ้า(อีวีป จากเดิมที่ราคาน้ำมันโลกตกต่ำลงอาจเป็นผลดีต่อยานยนต์แบบสันดาปภายใน ประกอบกับต้นทุนในการผลิตของรถอีวีสูง แต่เมื่อมีนโยบายเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการสนับสนุนการผลิตรถอีวีมากขึ้น และอาจจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยก็ได้ ที่สหรัฐอเมริกาสนใจที่จะสร้างฐานการผลิตรถอีวีในไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศมีพื้นฐานในเรื่องการผลิตยานยนต์ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในอาเซียน ทำให้สหรัฐมองเห็นความสำคัญของไทยในส่วนนี้ และกลายเป็นเรื่องที่ไทยจะใช้เป็นเรื่องในการเจรจาต่องรองได้ในอนาคต

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชน เรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคของนาย โอบามา ไม่ได้ส่งผลต่อเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง ใครทำการค้ากับสหรัฐต้องอยู่ในกรอบความร่วมมืออยู่แล้ว ต้องปรับตัว อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องจับตาคือ การที่สหรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศระยะสั้น วงเงิน 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะมีผลกระทบกับค่าเงินบาทของไทย ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนี้จะผ่านสภาสหรัฐฯได้เร็วแค่ไหน ในช่วงจังหวะที่ยังไม่ผ่าน อาจมีผลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากความกังวลว่า การเกิดเงินหนุนเวียนเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้ค่าเงินของสหรัฐอ่อนลง เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ทำให้ไทยเสียเปรียบเรื่องการส่งออก

 

“รัฐบาลไทยคงต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องนโยบายของนาย โจ ไบเดน เพราะทุกเรื่องเกิดขึ้นได้ในทันที บางเรื่องนายทรัมป์ทำเป็นกฎหมาย การปรับเปลี่ยนอาจต้องใช้เวลา ต้องดูว่าเรื่องใดทำได้เร็ว เรื่องใดทำได้ช้า เรื่องใดเกิดขึ้นแล้วกระทบทันที เพื่อเลือกลำดับความสำคัญ ปัจจุบันไม่สามารถวางแผนได้ล่วงหน้าเป็น 5 ปี 10 ปี อาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในเดือนต่อเดือน ยิ่งภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานาน ก็ถูกนำกลับใช้”นายวิศิษฐ์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง