รีเซต

สรท. ห่วงสู้รบรัสเซียยืดเยื้อ ฉุดส่งออกไตรมาส 2 วูบ 5 พันล้านเหรียญ  ยานพาหนะ กลุ่มเสี่ยง

สรท. ห่วงสู้รบรัสเซียยืดเยื้อ ฉุดส่งออกไตรมาส 2 วูบ 5 พันล้านเหรียญ  ยานพาหนะ กลุ่มเสี่ยง
ข่าวสด
25 กุมภาพันธ์ 2565 ( 18:20 )
46
สรท. ห่วงสู้รบรัสเซียยืดเยื้อ ฉุดส่งออกไตรมาส 2 วูบ 5 พันล้านเหรียญ  ยานพาหนะ กลุ่มเสี่ยง

ข่าววันนี้ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า สรท. ติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยคาดการณ์เบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อทั้งวงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน

 

อย่างไรก็ตาม สรท. ประเมินว่าหากสถานการณ์การสู้รบไม่ยืดเยื้อบานปลายหรือขยายวงกว้างไปมากกว่า พื้นที่ใน 2 ประเทศนี้ การส่งออกของไทยน่าจะยังเติบโตได้ที่ 5 %โดยคาดว่าสถานการณ์ส่งออกในไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ที่ร้อยละ 8 เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า แต่หากสถานกาณ์ยังคงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสอง โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ)

 

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.38 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 1,028 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยไปยูเครนในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.05% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 134.76 ล้านเหรียญสหรัฐ และ สรท. คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 100-105 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 2 ข้อ ประกอบด้วย 1.เพื่อรับมือต่อความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลก สรท.ขอให้ช่วยรักษาเสถรียภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 2. เพื่อรับมือต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุน

 

สรท. ขอให้รัฐพิจารณาอนุญาตการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามสัดส่วนราคาต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงอย่างแท้จริงทั่วโลก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่มีความผันผวนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง