รีเซต

บทเรียนตลาดหุ้นจีน-หุ้น BABA กับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทเรียนตลาดหุ้นจีน-หุ้น BABA กับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ทันหุ้น
21 มีนาคม 2565 ( 12:35 )
297

สัปดาห์ที่แล้วตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีมีความผันผวนรุนแรงอย่างที่แทบไม่เคยปรากฏมาก่อน  วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 65 ดัชนีตลาดหุ้นฮั่งเส็งปรับตัวลดลงอย่างแรงจาก 20,554 จุดในวันศุกร์ ลดลงเหลือ 19,532 จุดหรือลดลงประมาณ 5% วันอังคารลดลงอีกเหลือ 18,415 จุด หรือ ลดลงอีก 5.7% รวม 2 วันหุ้นตกลงถึง 10.4% แต่แล้วพอถึงวันพุธ  ดัชนีกลับปรับตัวขึ้นเป็น 20,088 หรือเพิ่มขึ้น 9% และพอถึงวันพฤหัสก็ปรับตัวขึ้นต่อเป็น 21,501 หรือเพิ่มขึ้นอีก 7% ก่อนที่จะลบเล็กน้อยในวันศุกร์ที่ดัชนีอยู่ที่ 21,412 จุด โดยรวมแล้ว ดัชนีตลอดสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 4.2% โดยเหตุผลที่หุ้นลงนั้นเป็นเพราะนักลงทุนเป็นห่วงเรื่องความสัมพันธ์ของจีนกับรัสเซียที่อาจจะทำให้จีนถูกแซงชั่นจากอเมริกาและนาโต้ซึ่งอาจจะรวมถึงการถอดหุ้นจีนที่จดทะเบียนที่อเมริกาด้วย นอกจากนั้นก็กังวลเรื่องของกฎระเบียบและการควบคุมตลาดหุ้นของจีนต่อหุ้นเทคขนาดใหญ่ที่นับวันจะเข้มงวดขึ้น แต่เหตุผลที่หุ้นขึ้นไปแรงยิ่งกว่าในวันพุธและพฤหัสก็คือการที่กระทรวงการคลังและแบ้งค์ชาติจีนประกาศมาตรการที่จะรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนและสนับสนุนหุ้นจีนที่จะไปจดทะเบียนในต่างประเทศ

            ที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าดัชนีตลาดหุ้นก็คือ หุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนแทบทั้งหมดซึ่งรวมถึงหุ้นอาลีบาบาและหุ้นเทนเซนนั้น ในวันพุธปรับตัวขึ้นกว่า 20% ในวันเดียวหลังจากที่ตกต่ำมาตลอดตั้งแต่ต้นปีอานิสงค์จากการที่รัฐบาลจีนพยายาม“จัดระเบียบ” บริษัทขนาดใหญ่ที่มีอำนาจควบคุมตลาดสินค้าของตนเองมากเกินไปและเจ้าของกิจการ “รวยเกินไป” ตามนโยบายการกระจายความมั่งคั่งให้เท่าเทียมกันของสีจิ้นผิงที่เห็นว่าคนจีนนั้นมีความเหลื่อมล้ำมากเกินไปแล้ว  ซึ่งทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าบริษัทเทคเหล่านั้น  ในอนาคตคงจะโตยาก และถ้าต้องถูกถอดออกจากตลาดหุ้นอเมริกาด้วยแล้ว  ราคาหุ้นก็คงจะต้องลงไปหนักมาก  อย่างไรก็ตาม  เมื่อหุ้นตกลงมาหนักมากและมี “ข่าวดี” ที่ออกมาหักล้าง “ข่าวร้าย” ที่เป็นสาเหตุของหุ้นตก ราคาหุ้นก็ “กระเด้ง” ขึ้นแรงมาก  

            คำถามก็คือ  ได้เวลาที่จะเข้าตลาดหุ้นจีนและโดยเฉพาะเข้าซื้อหุ้นเทคขนาดใหญ่ของจีนหรือยัง?  หรือควรจะขายหุ้นจีนทิ้งในช่วงที่มัน  Rebound หรือฟื้นตัวรุนแรงนี้ ?

            คำตอบพื้นฐานของผมก็คือ เราควรจะต้องมอง “พื้นฐาน” ระยะยาวของกิจการและราคาของหุ้นเสมอในตลาดหุ้นของประเทศนั้นๆ นี่เป็นหลักการแบบ VI ที่ผมคิดว่ายังมั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลงแม้ในบริบทของ “หุ้นในเศรษฐกิจใหม่” ที่คนมักจะพูดว่าหลักการเดิมนั้นอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว แต่ผมเองกลับคิดว่า ตลาดหุ้นจีนและหุ้นโดยเฉพาะหุ้นเทคของจีนนั้น อาจจะเป็นเครื่องพิสูจน์หรือเป็นบทเรียนให้เรารู้ว่า  ในที่สุดแล้ว  ทฤษฎีและหลักการลงทุนโดยเฉพาะในแนว VI นั้น สามารถนำมาใช้ในการลงทุนในหุ้นทุกรูปแบบไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นหุ้นในเศรษฐกิจเก่าหรือหุ้นเทคโนโลยีใหม่  และการประเมินราคาเพื่อเลือกซื้อหรือขายหุ้นแบบ VI นั้น ยังเป็นวิธีที่ดีและเหมาะสมที่สุดไม่ว่าหุ้นตัวนั้นจะเป็นหุ้นเศรษฐกิจเก่าหรือใหม่หรือหุ้นเทคโนโลยี 

          พูดง่ายๆก็คือ ไม่มีการ “ประเมินหุ้นเทคโนโลยี” เป็นการเฉพาะ มีแต่การประเมินหุ้นว่าเป็นแบบ Value หรือแบบ Growth โดยที่หุ้นที่เป็น Value ก็เน้นว่าเป็นหุ้นที่มี “ราคาถูก” เมื่อเทียบกับมูลค่าพื้นฐานที่วัดจากกระแสเงินสดในอนาคตทั้งหมดและ Discount หรือคิดส่วนลดลงมาตามระยะเวลาและอัตราคิดลดคล้าย อัตราดอกเบี้ยต่อปี ส่วนแบบ Growth หรือหุ้นเติบโตนั้น จริง ๆ ก็ใช้ทฤษฎีเดียวกัน  แต่จะเลือกเฉพาะบริษัทที่กระแสเงินสดในอนาคตจะเติบโตเร็วมากซึ่งจะทำให้ประเมินมูลค่าหุ้นสูงได้มากกว่าปกติโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกำไรของบริษัทที่ทำได้ในปัจจุบัน  ดังนั้น  เวลามองดูหุ้นเหล่านี้ในปัจจุบันก็จะพบว่ามันมี “ราคาแพงมาก” วัดจากค่า PE ที่อาจจะสูงเป็น 40-50 เท่าขึ้นไป  ในขณะที่หุ้น Value นั้นจะมีค่า PE ต่ำกว่ามาก  

          ดังนั้น  เวลาที่เราวิเคราะห์หุ้นเทค สิ่งที่ต้องทำ ก็คือ  การดูว่าหุ้นตัวนั้นทำอะไรและจะสามารถสร้างกำไรหรือกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นเร็วและมั่นคงต่อเนื่องไปมากน้อยแค่ไหน  ถ้าโตเร็วแข็งแกร่งมั่นคง  นี่คือหุ้น Growth  ถ้าไม่แน่ใจก็อาจจะไม่ใช่  เช่นเดียวกัน  หุ้นในเศรษฐกิจปัจจุบันแม้ไม่ใช่เทคโนโลยีก็อาจจะเป็นหุ้น Growth ได้  ตรงกันข้าม  หุ้นเทคที่เติบโตจน “อิ่มตัว” และมีความมั่นคงของกระแสเงินสดและมีราคาไม่แพงเช่น ค่า PE แค่ 15-20 เท่าก็เป็นหุ้น Value ได้

            ในประวัติศาสตร์ผลตอบแทนของหุ้นระยะยาวอาจจะ 10-20 ปีขึ้นไปนั้น  หุ้น Value มักให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้น Growth ค่อนข้างมาก  แต่ในบางช่วงเวลาซึ่งอาจจะยาวตั้งแต่ 5-6 ปี  หรือบางครั้งก็เป็น 10 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเติบโตค่อนข้างดีและมีสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ ๆ  เกิดขึ้นหรือมีภาวะทางการเงินที่เอื้ออำนวยมากเช่นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากนั้น  หุ้น Growth ก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้น Value แต่หลังจากนั้นเมื่อภาวะไม่เอื้ออำนวย  Value ก็มักจะดีกว่า Growth โดยเฉพาะในยามที่หุ้นตกหนัก  หุ้น Value มักจะตกน้อยกว่ามาก

            กลับมาที่ตลาดหุ้นจีนโดยที่ผมจะใช้ตลาดฮ่องกงเป็นตัวแทน  ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น  ดัชนีฮั่งเส็งไม่ได้ขึ้นเลยแต่ปรับตัวลงถึง 12% และนี่ก็คล้าย ๆ  กับดัชนีตลาดหุ้นอื่น ๆ ของจีนที่ให้ผลตอบแทนต่ำมากเทียบกับหุ้นในประเทศประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้นของอเมริกา  นี่เป็นสิ่งที่อาจจะบ่งบอกถึงสภาวการณ์ที่ “ไม่ดี” ของประเทศจีนที่คล้าย ๆ  กับประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นย่ำแย่  อาจจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าหรือถดถอย  ภาวะการเงินที่ตึงตัว  หรือภาวะทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยก็เป็นเรื่องที่จะต้องวิเคราะห์กันต่อไป 

            ดัชนีฮั่งเส็งในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเองนั้นก็ติดลบไปประมาณ 8% แม้ว่าจะรวมการเพิ่มขึ้นของสัปดาห์ก่อนไปแล้ว  นี่ก็เป็นการบอกว่า  ตลาดหุ้นที่ย่ำแย่ของจีนนั้น  ยังไม่จบ  ทั้ง ๆ  ที่ดูเหมือนว่าจีนในฐานะของประเทศนั้นกำลัง  “ยิ่งใหญ่”  มากขึ้นทุกทีโดยเฉพาะในด้านของเทคโนโลยีที่มีบริษัทที่ก้าวหน้าและแข็งแกร่งมากใน “ระดับโลก” และนั่นก็นำมาสู่การวิเคราะห์หุ้นอาลีบาบาหรือหุ้น BABA ที่จดทะเบียนทั้งในสหรัฐและฮ่องกง

            เมื่อ 5 ปีที่แล้วถ้าใครซื้อหุ้นบาบาและถือมาจนถึงวันนี้ก็จะพบว่าไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย  ราคายังคงเท่า ๆ  เดิมที่ประมาณ 108 เหรียญสหรัฐ  แม้ว่าสัปดาห์ก่อนหุ้นบาบาจะขึ้นมาถึง 34% และปันผลก็จ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย  คนที่ซื้อหุ้นในวันนั้นอาจจะมองว่ามันเป็นหุ้นเทคที่จะ “โตระเบิด” คิดถึง “วันคนโสด” ที่บริษัทขายสินค้าผ่านแพล็ทฟอร์มของตนเองได้มโหฬารแล้ว  นักลงทุนก็คงจะ “ฝัน” ว่านี่คือหุ้นเท็คสุดยอดที่จะทำให้คนลงทุนรวยอย่างแน่นอนถ้า “ถือยาว” ซัก 5 ปีขึ้นไป  ตรงกันข้ามมันตกลงมาถึง 34% ก่อนถึงสัปดาห์ก่อน  และถ้านับจากต้นปีนี้  มันก็ยังตกลงมาประมาณ 10% ซึ่งแสดงว่ามันยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น 

            เหตุผลที่หุ้นบาบามีผลงานที่ไม่ดีเลยนั้น ผมคิดว่าเมื่อ 5 ปีก่อนนั้น  มันคือหุ้น Growth เพราะมันคือบริษัทที่เติบโตเร็วและมีความแข็งแกร่งของตัวกิจการ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนแต่มีราคาที่สูงมากคือมีค่า PE ประมาณ 40-50 เท่า แต่หลังจากนั้นและต่อมาอีก 5ปี ภาวะตลาดหุ้นและประเทศอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อหุ้น Growth ทำให้หุ้นเหล่านี้ไม่ Perform ราคาหุ้นไม่ไปไหนตลอด 5 ปี ทั้งๆที่บริษัทก็เติบโตขยายตัว  กำไรต่อหุ้นเติบโตเร็ว  จากระดับ 2.5 เหรียญ เป็น 7.2 ดอลลาร์ในปัจจุบัน  ซึ่งก็ส่งผลให้ค่า PE ที่เคยสูงลดลงเหลือเพียงประมาณ 15 เท่า  หรือถ้าคิดจากราคาหุ้นก่อนปรับตัวขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนก็อาจจะเหลือค่า PE ที่ 10-11 เท่า  กลายเป็นหุ้น Value ที่น่าลงทุนเลย  ว่าที่จริงในวันนั้นผมเองก็กำลังสนใจที่จะซื้อเนื่องจากการที่มีการออก DR ของหุ้น BABA ในตลาดหุ้นไทยที่ทำให้การลงทุนทำได้สะดวกมาก  อย่างไรก็ตาม  เมื่อหุ้นดีดกลับมาถึง 34%  ภายใน 2-3 วัน  ผมเองก็อาจจะต้องกลับมาคิดอีกทีว่ายังสนใจที่จะลงทุนหรือไม่

            ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ผมเองคิดว่าหุ้นเทคขนาดใหญ่ของจีนนั้น  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถูกวิเคราะห์ว่าเป็นหุ้น Growth ที่มีค่า PE สูงลิ่ว  ซึ่งทำให้ผมไม่สนใจ  แต่บัดนี้ มันอาจจะเปลี่ยนหรือใกล้เปลี่ยนไปจนกลายเป็น Value ไปแล้ว  บางทีอาจจะน่าสนใจสำหรับชาว VI ก็ได้  นี่ทำให้ผมนึกถึงวอเร็นบัฟเฟตต์ช่วงที่ซื้อหุ้น APPLE ครั้งแรกนั้น  คนคิดว่าเขาเปลี่ยนมาเล่นหรือซื้อหุ้นเท็ค  ทั้งที่จริง ๆ  แล้วเขาอาจจะซื้อหุ้น APPLE ที่เปลี่ยนเป็นหุ้น Value ไปแล้วก็ได้  เพราะในวันนั้น  ค่า PE ของหุ้นแอปเปิลอยู่ที่แค่ 15-20 เท่า  และหุ้นเองก็ไม่ใช่เน้นเทคโนโลยีแต่กลายเป็นหุ้นสินค้าผู้บริโภคยุคใหม่ไปแล้ว

 

อ้างอิงบทความจาก https://blog.settrade.com/blog/nivate/2022/03/21/2650 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง