เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์ - ไม่ชอบเหมือนพ่อแม่
ไม่ชอบเหมือนพ่อแม่ - เดเมียน แฟรงก์ และคณะวิจัยจากองค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (ซีเอสไออาร์โอ) ประเทศออสเตรเลีย ศึกษาความเชื่อมโยงของพฤติกรรมของเด็กที่ไม่ชอบผักวงศ์ผักกาด (Brassica) อาทิ บร็อกโคลี่ ดอกกะหล่ำ และกะหล่ำปลี โดยใช้เทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโตรเมทรี (จีซี-เอ็มเอส) ในการแยกแยะสารประกอบที่ก่อให้เกิดกลิ่นของกะหล่ำดอกและ บร็อกโคลี่ ทั้งแบบดิบ และที่นำไปลวกจนสุก จากนั้นให้พ่อ หรือแม่และลูกที่อยู่ในช่วงอายุ 6-8 ขวบ จำนวน 98 คู่ ให้คะแนนกลิ่น ซึ่งสารประกอบอินทรีย์ไดเมทิลไตรซัลไฟด์ที่มีกลิ่นเหม็นเน่าเป็นกลิ่นที่ผู้ปกครองและเด็กให้คะแนนชอบน้อยที่สุด
ต่อมาทีมวิจัยนำตัวอย่างน้ำลายของผู้ร่วมวิจัยแต่ละคนผสมเข้ากับผงกะหล่ำดอกดิบและวิเคราะห์สารประกอบที่ระเหยจากการผสมตัวอย่างน้ำลาย พบว่าเอนไซม์จากผักและจากแบคทีเรียในน้ำลายสามารถผลิตกลิ่นเหม็นในรูปแบบซัลเฟอร์หรือกำมะถันในระดับที่ใกล้เคียงกันระหว่างผู้ปกครองและเด็กจากครอบครัวเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญอธิบายจากผลการศึกษาว่า นิสัยไม่ชอบผักวงศ์ผักกาดอาจเกิดจากความคล้ายคลึงของชีวนิเวศจุลชีพหรือไมโครไบโอนั่นเอง