คปภ.เสริมแกร่ง รับมือข้อพิพาท ประกันอีวี-เฮลธ์
#คปภ. #ทันหุ้น- คปภ.เสริมสร้างองค์ความรู้ “อนุญาโตตุลาการ” ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า EV – กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการได้ถูกกำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นไปตามอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มขึ้น
จากสถิติการดำเนินการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเสนอข้อพิพาทจำนวน 4,440 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการยุติข้อพิพาทแล้ว จำนวน 4,081 เรื่อง มีจำนวนเงินที่ยุติข้อพิพาทได้ เป็นเงิน 920 ล้านบาท และในปี 2567 มีข้อพิพาทที่เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ในปี 2567 จำนวน 504 เรื่อง
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เกิดแบบประกันภัยใหม่ๆ ขึ้นมา ทาง คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมข้อมูลความรู้เพื่อรับมือกับข้อพิพาทใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ คปภ.จะต้องให้ความรู้ ความเข้าใจกับผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ
เนื่องจาก ประกัน EV ไม่สามารถนำกรมธรรม์ประกันภัยและพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของรถยนต์สันดาปมาใช้เพราะความคุ้มครองอาจไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไหล่ หรือระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า
จึงเป็นที่มา ที่ คปภ.ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยร่วมกับคณะกรรมการยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และตัวแทนภาคธุรกิจจัดทำแบบข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สอดคล้องกับลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้า และสะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแนวทางคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า
และอีกเรื่องหนึ่งที่ คปภ. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ คือ การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ (New Health Standard) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่อนุญาโตตุลาการจำเป็นต้องทราบเพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับประกันภัยสุขภาพดังกล่าว