รีเซต

เจาะเบื้องลึกเบื้องหลัง สาเหตุอีลอน มัสก์ ถอดใจไม่ซื้อ Twitter เพราะอะไร?

เจาะเบื้องลึกเบื้องหลัง สาเหตุอีลอน มัสก์ ถอดใจไม่ซื้อ Twitter เพราะอะไร?
TNN ช่อง16
13 กรกฎาคม 2565 ( 15:26 )
135

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) แจ้งว่าเขาจะยุติข้อตกลงในการซื้อทวิตเตอร์ (Twitter) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่าทวิตเตอร์ “เปิดเผยข้อมูลเท็จและทำให้เกิดความเข้าใจผิด” เกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมและบอต หรือบัญชีไร้ตัวตน

จนกระทั่งล่าสุดเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาของวันที่ 13 กรกฎาคม  ทวิตเตอร์ยื่นฟ้องอีลอน มัสก์ ในข้อหาละเมิดข้อตกลงดังกล่าว และขอให้ศาลสั่งบังคับให้การซื้อขายเสร็จสิ้น โดยมัสก์จะต้องชำระเงินซื้อทวิตเตอร์ ในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์ แม้ว่าราคาหุ้นทวิตเตอร์ปัจจุบันจะอยู่ที่ 34.06 ดอลลาร์

ก่อนอื่นต้องเล่าถึงทวิตเตอร์ ว่าเป็นโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้ 1.3 พันล้านบัญชีทั่วโลก แต่มีผู้ใช้งานเพียง 396 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ใช้ในสหรัฐฯ เพียง 37 ล้านคน โดย ทวิตเตอร์มีผู้ใช้น้อยกว่า เฟซบุ๊ก และ ยูทูบถึงสิบเท่าตัว และ ทวิตเตอร์ยังมีคนใช้น้อยกว่า TikTok ถึง 5 เท่าตัว แต่ทวิตเตอร์สร้างแรงจูงใจทางการเมืองในสหรัฐฯ สูงมาก โดยชาวสหรัฐฯ จะติดตามนักการเมืองผ่านทวิตเตอร์เป็นหลัก

เมื่ออีลอน มัสก์พยายามถอนตัวออกจากซูเปอร์ดีลกระฉ่อนโลกนี้ การถอนตัวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างผู้บริหารเจ้าของบริษัทเทสลา (Tesla) กับทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลก

ฝันร้ายของทวิตเตอร์

 หากสรุปสถานการณ์สั้น ๆ ก็ต้องกล่าวว่า “นี่เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับ Twitter และตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว” แดน ไอเวส (Dan Ives) กรรมการผู้จัดการและนักวิเคราะห์การวิจัยหุ้นอาวุโสของ Wedbush Securities บริษัทบริหารจัดการความมั่งคั่งในลอสแอนเจลิส กล่าว


ไอเวส เตือนว่าการที่อีลอน มัสก์ จะหยุดการซื้อขาย อาจทำให้บริษัทกลายเป็นสินค้ามีตำหนิในสายตาของนักลงทุนรายอื่น โดยเฉพาะในวันที่ 8 กรกฎาคม ที่อีลอน มัสก์ประกาศยกเลิกข้อตกลง ราคาหุ้น Twitter ลดลงเกือบ 6% 

ด้านเบร็ต เทย์เลอร์ (Bret Taylor) ประธาน Twitter ตอบกลับว่า คณะกรรมการบริษัทพยายามจะบรรลุข้อตกลงที่ทำไว้แต่แรกกับอีลอน มัสก์ และจะดำเนินคดีทางกฎหมาย เพื่อบรรลุข้อตกลงให้ได้ 

“เรามั่นใจว่าเราจะคว้าชัยในศาลเดลาแวร์” เทย์เลอร์ระบุ

เหตุใดมัสก์ต้องยกเลิกการซื้อทวิตเตอร์

เรามาไล่ไทม์ไลน์คร่าว ๆ ก่อน 


ประเด็นระหว่าง อีลอน มัสก์ กับ ทวิตเตอร์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวๆ วันที่ 4 เมษายน 2022 เมื่อมัสก์ประกาศว่า เขาเข้าซื้อหุ้นทวิตเตอร์ไว้ถึง 9% หลังจากนั้นทวิตเตอร์เสนอให้อีลอน มัสก์มานั่งในบอร์ดบริหาร ก่อนที่อีลอน มัสก์จะปฏิเสธ


จนกระทั่งปลายเดือนเมษายน มัสก์ประกาศจะซื้อทวิตเตอร์ในราคาประมาณ 44,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท 


วันที่ 25 เมษายน ทวิตเตอร์ตกลงรับข้อสัญญาซื้อบริษัทมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์


วันที่ 13 พฤษภาคม อีลอน มัสก์ชะลอสัญญาการซื้อขายโดยอ้างว่า ทวิตเตอร์ไม่เปิดเผยข้อมูลบัญชีปลอมและสแปมต่าง ๆ


วันที่ 6 มิถุนายน มัสก์ขู่ว่า เขาจะถอนตัวจากการซื้อ ถ้าทวิตเตอร์ไม่สามารถให้ข้อมูลอย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับเรื่องบัญชีปลอมได้ ซึ่งทวิตเตอร์ กล่าวว่าบัญชีปลอมและสแปมต่าง ๆ มีจำนวนเพียงแค่ 5% ของบัญชีผู้ใช้


วันที่ 8 กรกฎาคม มัสก์ประกาศยุติการซื้อ โดยทนายความของอีลอน มัสก์ อ้างว่าทวิตเตอร์ ละเมิดข้อกำหนดข้อตกลงการขายหลายข้อ ทั้งยังให้ข้อมูลเท็จและทำให้เข้าใจผิด ที่ปรึกษาของมัสก์ระบุว่า จำนวนสแปมและบัญชีปลอมบนทวิตเตอร์นั้น สูงกว่าที่ทวิตเตอร์ประมาณไว้ที่ 5% เป็นอย่างมาก 


ทั้งนี้ ยังมีการโพสต์ มีม (Meme) ล้อเลียนทวิตเตอร์ ที่กล่าวว่าจะยื่นฟ้องอีลอน มัสก์ ว่าท้ายสุดแล้วทวิตเตอร์ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลเรื่องบัญชีปลอมต่อศาล 


เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ฝ่ายกฎหมายของทวิตเตอร์ออกมายื่นฟ้องมัสก์ในข้อหาละเมิดข้อตกลงในที่สุด


ทวิตเตอร์ราคาหุ้นตก อีกหนึ่งปัจจัยเสริมทำมัสก์ชะงัก


ช่วงระยะเวลาที่อีลอน มัสก์ พยายามจะซื้อทวิตเตอร์ มูลค่าของบริษัทเทคโนโลยีในตลาดหุ้นลดลงเป็นประวัติการณ์ ทำให้การประเมินมูลค่าก่อนหน้านั้นมีราคาสูงเกินราคาปัจจุบันมาก หากจะทำให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็ยกตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นของบริษัทสแนป (Snap) เจ้าของ Snapchat ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทคู่แข่งที่อยู่ในระดับใกล้เคียงที่สุดของ Twitter ลดลงมากกว่า 65% ในปีนี้ เป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์หุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ที่ราคาดิ่งลงพร้อม ๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่เทสลาเองก็ตาม


และเมื่อตอนที่อีลอนตัดสินใจระดมทุน 4.65 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับการยื่นซื้อ Twitter ก่อนนี้ อีลอน มัสก์กู้เงินมา 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์จากผู้ให้กู้หลายสิบราย นำโดยกองทุนมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) นอกจากนี้ เขายังระดมเงินได้ 1.3 พันล้านดอลลาร์จากกลุ่มธนาคาร 13 แห่ง แต่ก็ยังเหลือสัดส่วนเงินสดที่เขาต้องการอีก 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ 


และในเดือนพฤษภาคม มัสก์ยกเลิกการระดมเงินกู้จากกองทุน ทำให้สัดส่วนต้นทุนการยื่นซื้อทวิตเตอร์ของเขาพุ่งขึ้นเป็น 3.35 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อม ๆ กับที่หุ้นของบริษัทเทสลา (Tesla) ณ เวลานั้นลดลงราว 10% อีกด้วย นั่นหมายความว่า มัสก์แบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น พร้อม ๆ กับที่ทรัพย์สินของเขามีมูลค่าลดลงมากพอสมควร


โอกาสทางธุรกิจที่ลดลง 


ในการชี้แจง อีลอน มัสก์เผยว่า การให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีปลอมที่ผิดพลาดของ ทวิตเตอร์จะทำให้เกิดปัญหาด้านการจัดหาเงินทุนจากธนาคารที่ตกลงที่จะให้ยืมเงินสดเพื่อทำธุรกรรมให้เสร็จสิ้น


ธุรกรรมดังกล่าวทั้งหมด ยังไม่ได้รวมถึงค่าธรรมเนียมการยกเลิกการซื้อขาย มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ที่อีลอน มัสก์ต้องจ่ายหากเขาถอนตัว จึงไม่แปลกที่มัสก์ จะต้องพยายามต่อสู้ไม่ให้ตนเองเป็นฝ่าย "ขอยกเลิกดีล" ก่อน


นอกเหนือจากล้มเหลวในการชี้แจงเกี่ยวกับบัญชีปลอม มัสก์ยังชี้ว่า ทวิตเตอร์มีโอกาสทางธุรกิจลดลง และแนวโน้มทางการเงินของทวิตเตอร์ที่แย่ลงยังเป็นการละเมิดข้อตกลงอีกด้วย


มัสก์เสริมว่า ทวิตเตอร์ ล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจตามปกติ หลังจากผู้บริหารระดับสูงของทวิตเตอร์ พารัก อักราวาล (Parag Agrawal) สั่งหยุดการรับสมัครพนักงานใหม่ รวมถึงไล่พนักงานอาวุโส 2 คนออก และประกาศว่า บริษัทกำลังเลิกจ้างราวหนึ่งในสาม ของทีมจัดหาพนักงาน จากนั้น หุ้นของทวิตเตอร์ ร่วงลงเกือบ 5% ทันที


ทั้งนี้ ทวิตเตอร์เปิดเผยต่อสาธารณะมาหลายปีว่า พวกเขาประมาณการว่า มีผู้ใช้อย่างน้อย 5% ที่เห็นโฆษณาเป็นบัญชีหลอกลวงหรือ "บอต" (Bot)


มัสก์ปฏิเสธข้อมูลเหล่านี้ และกล่าวว่าเขาเชื่อว่ากว่า 20% ของบัญชีอาจเป็นบัญชีปลอม แม้ว่า ทวิตเตอร์จะอนุญาตให้อีลอน มัสก์เข้าถึงข้อมูลรายงานบัญชีผู้ใช้ได้ แต่ทวิตเตอร์ก็ยังชี้แจงว่า การประมาณการบัญชีหลอกลวงนั้นอิงตามข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ IP ของผู้ใช้ หมายเลขโทรศัพท์ สถานที่ และพฤติกรรม ดังนั้นจึงยากสำหรับบุคคลภายนอกที่จะตรวจสอบ


มัสก์กำลังพยายามซื้อของดีราคาถูก?


นักวิเคราะห์และพนักงานใน Twitter บางคนตีความว่า การกลับคำ หรือการยกเลิกข้อตกลงต่าง ๆ นานา เป็นการแสดงถึงความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของมัสก์ ในสภาวะหุ้นเทคโนโลยีราคาตกต่ำ พวกเขาคาดว่ามัสก์กำลังพยายามให้ได้ข้อตกลงซื้อขายที่ราคาถูกกว่านี้นั่นเอง


อย่างไรก็ดี กระบวนการเทคโอเวอร์ของอีลอน ทำให้ทวิตเตอร์เกิดสภาวะปั่นป่วน งานและอนาคตของพนักงานที่เหลือยังคงถูกแขวนไว้บนเส้นด้าย


แต่อย่างไรก็ดี ทวิตเตอร์ยังสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมาย ที่กำลังเริ่มต้น บังคับให้อีลอน มัสก์ยื่นซื้อบริษัทในชั้นศาลได้ โดยในอดีต ศาลสหรัฐฯ เคยตัดสินให้เป็นคุณแก่ฝ่ายผู้ขายในการต่อสู้ชั้นศาล เมื่อผู้ซื้อพยายามยุติข้อตกลงด้วยเหตุผลที่เป็นเท็จ


ทั้งนี้ เรื่องราวคล้าย ๆ กันนี้ เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ โดยอีลอน มัสก์พึ่งถูกนักลงทุนอเมริกันรวมตัวกันยื่นฟ้อง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยกล่าวหาว่าเขาจงใจ ‘ปั่นราคา’ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) สกุล ‘Dogecoin’ ทั้งเคยถูก ก.ล.ต. สหรัฐฯ กล่าวหาว่าปั่นหุ้น Tesla มาก่อนหน้านี้ด้วย 


สุดท้ายแล้ว เราจึงยังไม่รู้ว่าหมากเกมนี้จะจบลงเมื่อไร และอีลอน มัสก์ จะมีลูกเล่นไหนเพิ่มเติมมาอีก แต่เนื่องจากเป็นกระบวนการต่อสู้ของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี กับอภิมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ศึกครั้งนี้จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ว่ากระบวนการต่อสู้ของทั้ง 2 ฝ่ายจะงัดกลยุทธ์ออกมาเผด็จศึกกันอย่างไร


ที่มาของข้อมูล npr.org, economictimes.indiatimes.com, reuters.com, indianexpress.com

ที่มาของรูปภาพ Reuters, Twitter

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง