รีเซต

ดีพร้อม ดึง 5 บิ๊กธุรกิจลงทุนสตาร์ตอัพ ตั้งเป้าลงขัน 100 ล้านบาท

ดีพร้อม ดึง 5 บิ๊กธุรกิจลงทุนสตาร์ตอัพ ตั้งเป้าลงขัน 100 ล้านบาท
มติชน
26 มีนาคม 2565 ( 08:52 )
61
ดีพร้อม ดึง 5 บิ๊กธุรกิจลงทุนสตาร์ตอัพ ตั้งเป้าลงขัน 100 ล้านบาท

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับทุกฝ่ายให้เร่งดำเนินการเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย และเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการ โดยการนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขับเคลื่อนแนวทาง โดยมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ สตาร์ตอัพ (Startup) หนึ่งในฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ จากจุดเด่นด้านศักยภาพการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ จึงเกิดนวัตกรรมสนับสนุนและแก้ปัญหาในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง

โดยที่ผ่านมา ดีพร้อม ได้ส่งเสริมตั้งแต่การติดอาวุธเพิ่มเติมทักษะการประกอบการ เพื่อให้เกิดโมเดลธุรกิจที่พร้อมต่อยอดกิจการและการเชื่อมโยงไปยังแหล่งเงินทุนคุณภาพ (CVC) สำหรับผู้ประกอบการในระยะเติบโต ผ่านโครงการดีพร้อมสตาร์ทอัพ คอนเน็ค (DIPROM Startup Connect) ซึ่งปีนี้ จัดกิจกรรมเป็นปีที่ 3 อย่างต่อเนื่องโดยการเชื่อมโยงนวัตกรรมสู่การต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งมีผู้ประกอบการสตาร์ตอัพได้รับการคัดเลือกจำนวน 17 บริษัทเพื่อนำเสนอโมเดลธุรกิจ โดยตั้งเป้าให้เกิดการร่วมลงทุนในปีนี้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าการร่วมลงทุนได้ 94 ล้านบาท

โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในปีนี้ ต่างจากการดำเนินงานที่ผ่านมา จากเดิมที่มุ่งเน้นการนำเสนอโมเดลธุรกิจและการเปิดเวทีเชื่อมผู้ประกอบการสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่พบว่าสตาร์ตอัพที่เข้าสู่ระยะเติบโตยังมีจำนวนน้อย ประกอบกับนวัตกรรมบางส่วนยังไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ การดำเนินงานในปีนี้ ดีพร้อม จึงขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย ดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) เติมเต็มระบบนิเวศอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์ร่วม (BCG) โดยปรับรูปแบบการส่งเสริมให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของแต่ละธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ เครือข่ายเงินทุน เครือข่ายตลาด และเครือข่ายวิชาการ มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมร่วม หรือ Co-Creation เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่เพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน (C-Customization)

โดยมีบริษัทใหญ่จำนวน 5 บริษัทร่วมโครงการ ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ที่สนใจเข้าร่วมการทดลองใช้นวัตกรรม หรือ โซลูชั่นส์ในตลาดจริง ถือเป็นมิติใหม่ ของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการและง่ายต่อการขยายผลในเชิงธุรกิจ และเป็นก้าวสำคัญที่ดีพร้อมมุ่งส่งเสริมในปีนี้

ด้านนายวิศรุต วงศ์ชูพันธ์ กรรมการบริหาร บริษัท เอ็นโชล จำกัด หนึ่งในพันธมิตรภาคเอกชนที่ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในปีที่ผ่านมา เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมพลังงานให้กับหน่วยงานของรัฐบาลและมีความสนใจนวัตกรรมหรือโซลูชั่นที่จะช่วยแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาบริการของบริษัทฯ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น การลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพจึงเป็นหนึ่งในทิศทางที่สนใจแต่เนื่องจากมูลค่าการลงทุนใช้เงินจำนวนมาก จึงต้องคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่มีรางวัลการันตีคุณภาพ ซึ่งการลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากดีพร้อม สร้างความเชื่อมั่นได้เป็นอย่างดี เพราะจากการติดตามการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ดีพร้อมบ่มเพาะผู้ประกอบการในโครงการดังกล่าวให้พัฒนานวัตกรรมที่ตรงและตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงาน และสำหรับปีนี้ตั้งเพดานสำหรับการร่วมลงทุนไว้กว่า 20 ล้านบาท โดยพร้อมขยายเพดานการลงทุนหากพบนวัตกรรมที่น่าสนใจในปีนี้อีกด้วย

ผศ.ดร.เด่นชัย วรเดชจำเริญ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ทีไออี สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่ได้รับการร่วมลงทุนจากโครงการดีพร้อม เปิดเผยว่า การเข้าร่วมโครงการสตาร์ทอัพ คอนเน็คเป็นการสร้างความตื่นตัวเป็นอย่างมากจากการส่งเสริมบ่มเพาะทักษะ ทั้งในด้านการพัฒนาโมเดลธุรกิจ การนำเสนอไอเดียนวัตกรรม จนกระทั่งได้รับความสนใจจากพันธมิตรร่วมลงทุน โดยนวัตกรรมที่คิดค้น คือ ระบบ AI สำหรับการบริหารจัดการพลังงานในอาคาร สามารถวินิจฉัยจุดสิ้นเปลืองพลังงานในอาคารและแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line) เป็นระบบควบคุมอัจฉริยะ หรือ Smart Control รู้สึกดีใจที่บริษัทผู้นำด้านพลังงานตัดสินใจร่วมลงทุนในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำจากทีมผู้เชี่ยวชาญที่แนะนำให้ทำการบ้านเพิ่มเติมเกี่ยวกับความต้องการของผู้ร่วมลงทุน รวมทั้งการคิดค้นต้นแบบโซลูชั่นที่สามารถใช้งานได้จริงและมีระยะเวลาการวัดผลลัพธ์ที่ชัดเจน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง