รีเซต

เกษตรอุตฯ ทางรอดศก.ไทย ดีพร้อมช่วยธุรกิจ บูมรายได้ 1.2 พันล้านบาทปีนี้

เกษตรอุตฯ ทางรอดศก.ไทย ดีพร้อมช่วยธุรกิจ บูมรายได้ 1.2 พันล้านบาทปีนี้
มติชน
26 มีนาคม 2565 ( 22:16 )
59
เกษตรอุตฯ ทางรอดศก.ไทย ดีพร้อมช่วยธุรกิจ บูมรายได้ 1.2 พันล้านบาทปีนี้

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้น จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่มีการขยายตัว ประกอบกับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมการบูรณาการความร่วมมือในทุกองคาพยพ มุ่งเน้นสร้างการพึ่งพาตนเองของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เกษตรอุตสาหกรรม” และเป็นนโยบายสำคัญที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนส่งเสริมภาคการเกษตรด้วยศาสตร์ของอุตสาหกรรม พัฒนาองค์ความรู้ในด้านการประกอบการ ส่งเสริมการเข้าถึงเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพในทุกกระบวนการ จากการเพาะปลูกไปจนถึงการจัดจำหน่าย พร้อมส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อขยายโอกาสในการจัดจำหน่าย รวมทั้งการบริหารจัดการระบบหลังบ้าน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเป็นการปรับให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น

 

โดยตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563-2564 สร้างผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมรายใหม่ กว่า 8,000 คน ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมเดิมให้มีศักยภาพกว่า 1,800 กิจการ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ 600 ผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้มั่นคงกว่า 2,550 ล้านบาท ถือเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพพร้อมรองรับความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศในอนาคต

 

 

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมในปีงบประมาณ 2565 ดีพร้อม ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย “ดีพร้อมแคร์เกษตรอุตสาหกรรม” มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการในทุกมิติ เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ พร้อมการยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรม  ประกอบด้วย

 

C-Customization ปรับแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม โดยเพิ่มความหลากหลายของการดำเนินการสอดคล้องกับดีมานด์ของผู้ประกอบการ

 

A-Accessibility เพิ่มศักยภาพการให้บริการผ่านการดำเนินงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ ดีพร้อมเซ็นเตอร์ (DIPROM CENTER) ทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ

 

R-Reformation ปฏิรูปโครงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมตามนโยบาย BCG

 

E-Engagement ขยายพันธมิตรเกษตรอุตสาหกรรม โดยการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่งเสริม สนับสนุนทุนเพื่อธุรกิจ

 

ดร.ณัฐพล ระบุว่า ดีพร้อม มุ่งหวังให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ เพื่อกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพไปสู่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยได้พัฒนาเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ให้สามารถปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ เตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงานในส่วนนี้ ได้มอบหมายให้ กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม รับหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตรอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท

 

ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเกษตรอุตสาหกรรมเป็นที่น่าจับตา ด้วยปัจจัยจากสถาการณ์ต่างๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว และด้วยศักยภาพความพร้อมของประเทศไทย ที่มีความพร้อมด้านการเกษตร ประกอบกับแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารสุขภาพเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปีที่ผ่านมาตลาดอาหารสุขภาพของไทยเติบโตถึง 5,400 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดทั่วโลกเติบโตจากการประเมินของยะฮูไฟแนนช์ (Yahoo Finance) สูงถึง 6 ล้านล้านบาท โดยอาหารสุขภาพได้แบ่งประเภทออกเป็นหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้บริโภค อาทิ อาหารคีโต สำหรับผู้ที่ต้องการลดปริมาณการรับประทานแป้ง อาหารแพลนต์เบส

 

นางสุชาดา กุลมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรช แอนด์ เฟรนด์ลีฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เข้าร่วมอบรมในโครงการที่ดีพร้อมจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ทำให้บริษัทเกิดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยดีพร้อมได้ช่วยต่อยอดจากมาตรฐาน GMP สู่มาตรฐานฮาลาล สร้างโอกาสในการจัดจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมการสร้างแบรนด์ที่สะท้อนตัวตนของธุรกิจจากโครงการดีพร้อม จีเนียส อะคาเดมี่ (DIPROM Genius Academy) และได้เปลี่ยนจากการเพาะเห็ดขายมาสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าในตลาดสินค้าออแกนิก

 

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจประสบปัญหา แต่จากการเข้าร่วมโครงการกับดีพร้อมทำให้มองเห็นทางออกของธุรกิจมากขึ้น ผ่านการใช้ช่องทางตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ยังได้รับแนวคิดจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านการแปรรูปเห็ดออรินจิเป็นลูกชิ้นปลาหมึกแพลนต์เบส ทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 สามารถรักษายอดขายสินค้าได้กว่า 10 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 15 ล้านบาทในสิ้นปีนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง