รีเซต

ดีพร้อม จัดหลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นชาวปากน้ำโพ สร้างรายได้เสริมเพิ่ม 5 เท่า

ดีพร้อม จัดหลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นชาวปากน้ำโพ สร้างรายได้เสริมเพิ่ม 5 เท่า
มติชน
10 พฤษภาคม 2565 ( 12:17 )
44
ดีพร้อม จัดหลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นชาวปากน้ำโพ สร้างรายได้เสริมเพิ่ม 5 เท่า

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ดีพร้อม (DIPROM) หรือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 3 (DIPROM CENRTER 3) ได้เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกทักษะอาชีพแก่คนในชุมชน ภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) รุดสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากทุกพื้นที่ทั่วไทยให้ดีพร้อม โดยมุ่งเน้นการปรับรูปแบบการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพชุมชน (C-Customization) รวมทั้งปฏิรูปแนวทางการดำเนินงาน (R-Reformation) โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการและชุมชน ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านการวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวให้กับชุมชน

 

 

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรอินทรีย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งไทย และต่างประเทศ อาทิ ฟ้าทะลายโจร อัญชัน มะขามป้อม ดังนั้น ในปี 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 3 ได้ดำเนินการสร้างรายได้ให้กับชุมชนพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์สู่การยอมรับของตลาด โดยมีกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมโครงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปสมุนไพรให้มีคุณภาพ มาตรฐาน จำนวน 150 คน เกิดผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่นำงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในเชิงป้องกัน รักษา อย่างน้อย 5 ผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้นหลังเข้าโครงการมากกว่า 1 เท่าตัว และประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 โดยการนำโครงการ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” ซึ่งเป็นการฝึกทักษะอาชีพให้กับชาวชุมชน โดยมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน และคาดว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ประกอบด้วย

 

·การผลิตพวงกุญแจจากผ้า โดยการนำเศษผ้าที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้าในชุมชน มาต่อยอดพัฒนาเป็นพวงกุญแจ เพื่อเปลี่ยนจากของเหลือใช้ให้เป็นของที่ระลึกหรือสินค้าที่แสดงถึงอัตลักษณ์ในชุมชน ซึ่งทำให้เกิดมูลค่าของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบเดิมได้ถึงร้อยละ 50

 

·การจักสานเส้นพลาสติก เป็นการประยุกต์วิธีการจากเดิมที่ใช้วัสดุธรรมชาติ เปลี่ยนมาเป็นการนำพลาสติกที่เหลือใช้ จากการแปรรูปเกษตรให้ออกมาเป็นเส้นใยเพื่อการสานขึ้นรูปสำหรับทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีความคงทนกว่าวัสดุจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดในชุมชนอีกด้วย

 

·การผลิตเจลแอลกอฮอล์ผสมสารสกัดฟ้าทะลายโจร ผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของตลาดในการดูแลสุขภาวะความสะอาดในปัจจุบัน โดยฝึกฝนให้ชุมชนมีความเชี่ยวชาญในกระบวนการผลิต พร้อมการนำฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นสมุนไพรที่พบอยู่ได้มากในท้องถิ่น มาเป็นส่วนประกอบ ถือเป็นการแปรรูปสมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเจลแอลกอฮอล์และสรรพคุณในการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในคุณสมบัติของฟ้าทะลายโจร

 

ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านเกษตรกรรม และโดดเด่นด้วยสินค้า GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indicator: GI) ทั้งเครื่องปั้นดินเผามอญและน้ำตาลสดเกยไชย ด้านการท่องเที่ยวจากการเป็นเมืองศูนย์กลางที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย แต่ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ในช่วงปี 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 33.44 หรือราว 685,270 คน ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ดีพร้อมทั้งพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและแม่ทัพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย จึงได้สั่งการให้ ดีพร้อม ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและพัฒนาพื้นที่นครสวรรค์ให้ดีพร้อมโดยเร่งด่วน

 

ทั้งนี้ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่เศรษฐกิจเชิงพื้นที่และสร้างรายได้แก่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านผลสำเร็จของ 2 ชุมชน ดังนี้

 

1.ไซรัปตาลโตนด 100% จากชุมชนบ้านปากคลองเกยไชย จากวัตถุดิบท้องถิ่นสู่การสร้างรายได้คืนชุมชน โดยดีพร้อมได้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการนำอัตลักษณ์ชุมชนไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากการต่อยอดวัตถุดิบท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน

 

2.เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ จากชุมชนบ้านมอญ ที่สามารถลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตได้ถึง 20% ภายหลังจากที่ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 3 (DIPROM CENRTER 3) ได้ลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) รวมทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยให้การวัดอุณหภูมิมีความแม่นยำและช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความรู้ในการพัฒนาเครื่องปั้นที่มีคุณภาพ มีลวดลายที่โดดเด่น และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง