ดีพร้อม สร้างอาชีพให้ชุมชนพิจิตร รองรับแรงงานกลับถิ่น
ดีพร้อม สร้างอาชีพให้ชุมชนพิจิตร รองรับแรงงานกลับถิ่น ชูผลิตภัณฑ์ GI สร้างรายได้ เชื่อมโยงหมู่บ้าน DIPROM CIV ตั้งเป้าดันเศรษฐกิจฐานรากเต็มสูบ
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เพราะไม่สามารถทำงานในเมืองใหญ่ได้ เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ปิดตัวลงเพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้ แต่ภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายไปแล้วแรงงานส่วนใหญ่ต้องการที่จะประกอบอาชีพที่ภูมิลำเนาต่อ ดังนั้น ดีพร้อมจึงมุ่งเน้นเข้าไปส่งเสริมให้แรงงานกลับถิ่นและชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าจากอัตลักษณ์ของชุมชน รวมทั้งสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครับได้ โดยที่ไม่ต้องอพยพออกมาทำงานต่างถิ่นอีก ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องการทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงที่ดูแลผู้ประกอบการในทุกระดับทั่วประเทศ จึงได้สั่งการไปยังทุกหน่วยงานในกำกับให้เร่งหาวิธีการส่งเสริม ฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพให้แก่ชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตรายได้ให้ดียิ่งขึ้น
ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชน โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ ตำบลทับหมัน ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหินรวมจำนวน 17 หมู่บ้าน ซึ่งในปี 2565 ดีพร้อม จะเน้นไปที่การดำเนินการผ่านกิจกรรมพัฒนาทักษะการผลิตผลิตภัณฑ์และการสร้างรายได้ให้ชุมชนตามแนวทางพระราชดำริผ่านโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “DIPROMยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” โดยจะดำเนินการต่อเนื่องในจังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดพิจิตรมีคนตกงานและขาดรายได้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งอาชีพในพื้นที่คือการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ช่วงที่รอการเก็บเกี่ยวประชาชนต้องว่างงานขาดรายได้ ดังนั้น ดีพร้อม จึงได้เข้าไปส่งเสริมการสร้างอาชีพและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้กับประชาชนที่สนใจในหลักสูตร ดังนี้
1. การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่น (ยาดม ยาหม่อง ลูกประคบ) เนื่องจากในพื้นที่ทำการเกษตรและมีการปลูกพืชสมุนไพรไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ ขิง ข่า ไพล ตะไคร้ ใบมะกรูด โดยการจำหน่ายก่อนหน้านี้จะเน้นไปที่การขายสด ซึ่งทำให้ได้ราคาค่อนข้างต่ำ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ดีพร้อมจึงได้เข้าไปส่งเสริมให้ประชาชนนำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นยาหม่องและลูกประคบ เพื่อจำหน่ายในท้องตลาดและเก็บไว้ใช้เองในกรณีเจ็บป่วยและปวดเมื่อยจากการทำไร่ทำนาของคนในครอบครัว ถือว่าเป็นอีกแนวทางในสร้างอาชีพและรายได้จากสมุนไพรท้องถิ่น รวมถึงเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
2. การทำผลิตภัณฑ์ไม้กวาดทางมะพร้าว และไม้กวาดดอกหญ้า โดยจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุเพราะในจังหวัดพิจิตรผู้สูงอายุค่อนข้างมีฝีมือ อีกทั้งไม้กวาดยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากมีการส่งเสริมอาชีพในกลุ่มนี้จะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นอาชีพเสริมหลังจากทำกิจกรรมในไร่นาเสร็จแล้ว หรือช่วงรอฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างดี ส่วนช่องทางการจำหน่ายจะเน้นไปที่การขายในตลาดนัดชุมชนและร้านยี่ปั๊วเป็นส่วนใหญ่ โดยมีประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเป็นจำนวนมาก
“ดีพร้อมได้เดินหน้าส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนจังหวัดพิจิตรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ “DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน” ด้วยการต่อยอดเพื่อสร้างธุรกิจผ่านหลักสูตรการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตร โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต่อยอดในเชิงธุรกิจให้แก่ชาวพิจิตรด้วยการส่งเสริมผ่านศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 3 (DIPROM CENTER 3) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร โดยปัจจุบันดีพร้อมได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะด้านการพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์และเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วม จำนวน 200 คน และคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในจังหวัดพิจิตรเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่า จากงบประมาณที่ลงไปสนับสนุนในพื้นที่”ดร.ณัฐพล กล่าวสรุป
ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาดีพร้อมได้เข้าไปส่งเสริมระบบเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดพิจิตรให้เกิดการต่อยอดสินค้า โดยการส่งเสริมสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI ให้แก่ผลิตภัณฑ์หลักของจังหวัด ได้แก่
·ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผ่านกระบวนการขอใช้สัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดพิจิตร นอกจากนี้ ดีพร้อมยังได้สร้าง “ระบบควบคุมภายในสินค้าส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร” เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ส้มโอท่าข่อยไว้ด้วย เนื่องจากมีจำนวนผู้ปลูกน้อยลง โดยมีเกษตรกรได้รับการพัฒนา จำนวน 26 ราย มีพื้นที่ปลูก 228 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 6.8 ล้านบาทต่อปี
·ข้าวขาวกอเดียว 35 ด้วยการผลักดันให้เป็น สินค้า GI อีกหนึ่งประเภท โดย ดีพร้อม ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชน เพื่อการยื่นขอมาตรฐานผ่านการดำเนินการจัดทำคำขอจดทะเบียน GI ให้แก่ ข้าวขาวกอเดียว 35 เป็นสินค้า GI ของจังหวัด ภายใต้ชื่อ “ข้าวขาวกอเดียวพิจิตร” ปลูกได้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดพิจิตรเท่านั้น โดยข้าวชนิดนี้ เป็นข้าวนาปีไวต่อช่วงแสง มีเมล็ดยาว เมื่อหุงข้าวสุกจะมีลักษณะร่วนและค่อนข้างแข็ง โดยส่วนใหญ่จะนิยมนำไปแปรรูป ทำแป้งข้าวจ้าว ทำเส้นขนมจีน ซึ่งมีเกษตรกรได้รับการพัฒนา จำนวน 13 ราย พื้นที่ปลูกข้าว 267 ไร่ ใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพิจิตรอำเภอสากเหล็ก อำเภอสามง่าม อำเภอวชิรบารมี อําเภอบึงนาราง และอําเภอโพธิ์ประทับช้าง สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2.56 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ดีพร้อมยังได้เข้าไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีพร้อม หรือหมู่บ้าน DIPROM CIV ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา คือ ชุมชนบ้านวังกรด ผ่านการให้ความรู้ตามแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สร้างความเข้าใจด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชน การจัดเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวชุมชน การต้อนรับนักท่องเที่ยว และช่องทางการจัดการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้ชุมชนมีช่องทางการตลาดและรายได้เพิ่มขึ้นส่งผลให้หมู่บ้านวังกรดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500,000 บาทต่อปี
รวมถึงการเข้าไปช่วยเกษตรกรสมาชิกภายใต้กิจกรรมพัฒนาทักษะการผลิต ผลิตภัณฑ์ และ การสร้างรายได้ให้กับชุมชนตามแนวทางพระราชดำริ ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจชุมชนให้กับศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตรโดยการให้องค์ความรู้การพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรของพื้นที่ และคาดว่าจะช่วยให้เกิดรายได้ของชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 250,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ดี ดีพร้อมมีความพร้อมที่จะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สถานประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนผ่านนโยบาย “ดีพร้อมแคร์ DIPROM CARE” ซึ่งเป็นแนวทางในการยกระดับและฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังจากได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาด้วยการสำรวจปัญหาที่แท้จริงศึกษาความต้องการ และรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการให้ในทุกมิติ (C-Customization) และสอดรับกับบริบททั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านการปฏิรูปกลไกการดำเนินงาน (R-Reformation) เพื่อให้เกิดรูปธรรม อันจะสะท้อนภาพของรายได้ประชาชนที่เพิ่มขึ้น และการพึ่งพาซึ่งกันและกันของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน