เตือนภัย "แอปฯหาคู่" ระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ แนะ 4 วิธีป้องกัน!
รัฐบาลเตือนภัย "แอปพลิเคชันหาคู่" ระมัดระวังการคบหาบุคคลบนโลกออนไลน์เสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ อาชญากรรม หลายรูปแบบ แนะ 3 วิธีป้องกันถูกหลอกลวง
วันนี้( 14 ต.ค.65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันได้ปรากฏกรณีการใช้แอปพลิเคชันหาคู่เป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมโดยต่อเนื่อง เช่นล่าสุดได้ปรากฏว่ามีผู้ต้องหาตามหมายจับคดีทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ได้ใช้แอปพลิเคชันหาคู่หลอกลวงเหยื่ออีกรายและมีการกักขัง ทำร้ายร่างกาย แต่เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือออกมาได้และจับกุมผู้กระทำผิดได้
ดังนี้ จึงขอเตือนให้ประชาชนที่มีการใช้แอปพลิเคชัน หรือโซเชียลมีเดียทุกช่องทางในการหาคู่ ให้ใช้ความระมัดระวังในการคบหาผู้ที่พบกันในช่องทางดังกล่าวอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีมิจฉาชีพ และอาชญากรรูปหลากหลายรูปแบบแอบแฝงอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงไปทำร้ายร่างกาย หลอกลวงเพื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วถ่ายคลิปเพื่อนำไปแบลคเมลเรียกเงินจากเหยื่อ
อย่างไรก็ตาม กรณีที่พบมากคือกลุ่มโรแมนซ์สแกม ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ ที่จะเข้ามาหาเหยื่อในลักษณะตีสนิท พูดคุยคบหาเป็นคนรักจากนั้นจะสร้างเรื่องราวต่างๆ เพื่อหลอกลวงให้มีการโอนเงินให้กลุ่มคนร้าย หรือบางกรณีหลอกลวงใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมาย
ปัจจุบันแอปพลิเคชันหรือโซเชียลมีเดียเพื่อการหาคู่ได้รับความนิยมมากของคนทุกวัย เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อหาคู่ได้ทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ความนิยมดังกล่าวก็เป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพ อาชญากรไซเบอร์เข้ามาใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงเหยื่อด้วยรูปแบบต่างๆ จึงขอเตือนให้ผู้ใช้บริการใช้ความระมัดวัง อย่าหลงเชื่อผู้ที่พบกันในโซเชียลมีเดียโดยง่าย ขอให้ตรวจสอบประวัติบุคคลที่จะคบหาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะที่เข้ามายืมเงินและให้โอนเงินไม่ว่าจะด้วยเหตุใดอย่าโอนเด็ดขาดให้สันนิษฐานก่อนว่าเป็นคนร้ายที่เข้ามาหลอกลวง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับแจ้งเหตุอาชญากรรมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและมีการออกข่าวสารเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับแนะนำแนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงจากใช้แอปพลิเคชันหาคู่ ดังนี้
1)ระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลทั้งหมดกับคนที่เพิ่งรู้จัก
2) ไม่หลงเชื่อ หรือไว้ใจบุคคลใดโดยง่าย หากมีความจำเป็นต้องนัดเจอควรมีเพื่อนหรือผู้ปกครองไปด้วย
3) ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือเพียงลำพัง ควรพูดคุยทำความเข้าใจถึงขอบเขตการใช้งานว่าแอปพลิเคชันไหนใช้ได้บ้างหรือแอปพลิเคชันใดควรหลีกเลี่ยง
4) อะไรที่ดีเกินไป เร็วเกินไปให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าอาจจะดีเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยง่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ทั้งนี้ หากผู้ใช้แอปพลิเคชันหาคู่หรือโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ พบเบาะแสการกระทำผิดไม่ว่าจะรูปแบบใด ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือ และดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามขั้นตอนกฎหมาย โดยสามารถแจ้งได้ทั้งสายด่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 191 หรือ สายด่วน ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา เว็บรัฐบาล
ภาพจาก AFP