รีเซต

Editor’s Pick: ทำความรู้จักโรค ‘ฝีดาษลิง’ ที่เสี่ยงระบาดในสหรัฐฯ

Editor’s Pick: ทำความรู้จักโรค ‘ฝีดาษลิง’ ที่เสี่ยงระบาดในสหรัฐฯ
TNN World
23 กรกฎาคม 2564 ( 09:07 )
251
Editor’s Pick: ทำความรู้จักโรค ‘ฝีดาษลิง’ ที่เสี่ยงระบาดในสหรัฐฯ
 
ตอนนี้ ทางการสหรัฐฯ กำลังเฝ้าระวังประชาชนกว่า 200 คนใน 27 รัฐ ที่อาจสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวเท็กซัสที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมาจากไนจีเรีย
 
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนที่แล้ว สหราชอาณาจักร พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 3 คน ซึ่งเป็นการพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ทั้งที่โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่เกิดได้ยากและผู้คนรู้จักน้อยมาก
แล้วโรค “ฝีดาษลิง” เป็นอย่างไร? TNN World จะพาไปทำความรู้จักกัน
 
 
 
“ฝีดาษลิง” พบได้บ่อยแค่ไหน?
 
 
ฝีดาษลิงมีสาเหตุมาจากไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (smallpox) แม้ว่ามันจะไม่รุนแรงมากนัก และบรรดาผู้เชี่ยวชาญบอกว่า โอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสตัวนี้ อยู่ในระดับต่ำ
 
 
โรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่เกิดอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในประเทศแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ใกล้กับป่าฝนเขตร้อน มีอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก คือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง
 
 
ผู้ป่วยที่พบทั้งในสหรัฐฯ และ 2 คนในสหราชอาณาจักร ล้วนแต่เดินทางกลับจากไนจีเรีย โดย 2 คนจากสหราชอาณาจักรนั้นน่าจะเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาการไม่รุนแรง แต่ก็ยังไม่ได้มีการยืนยัน ส่วนคนติดเชื้อรายที่ 3 ในสหราชอาณาจักร เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อไวรัสนี้จากผู้ป่วยอีกต่อหนึ่ง
ขณะนี้ ที่สหรัฐฯ กำลังจับตาเฝ้าระวังกว่า 200 คน ที่อาจติดต่อหรือสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวรัฐเท็กซัสที่ป่วยหลังเดินทางกลับจากไนจีเรีย
 
 
 
แล้วอาการเป็นอย่างไร?
 
 
อาการของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เบื้องต้น จะมีไข้สูง, ปวดศีรษะ, มีอาการบวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีอาการกระสับกระส่ายทั่วไป แต่เมื่อไข้ลดลง อาจเกิดผื่นคันตามมา โดยมักเริ่มที่ใบหน้าแล้วลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยทั่วไปแล้วจะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า
 
 
ผื่น ซึ่งอาจทำให้คันมาก จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพและผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะตกสะเก็ดและหลุดร่วงในที่สุด และทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้
 
 
 
ติดต่อกันได้อย่างไร?
 
 
ฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อได้เมื่อใครก็ตามที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ป่วย ไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผลแม้เล็กน้อย, ทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา, จมูก หรือปากได้
 
 
นอกจากนี้ ยังสามารถแพร่เชื้อได้ได้จากการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น ลิง, หนูและกระรอก หรือโดยแม้แต่วัตถุที่ปนเปื้อนไวรัส เช่น ผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า
 
 
 
มันอันตรายอย่างไร?
 
 
ผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางครั้งก็มีลักษณะคล้ายอีสุกอีใส (chickenpox) และหายได้เองภายใน 14-21 วัน
 
 
อย่างไรก็ตาม บางครั้ง โรคฝีดาษลิงอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น ประมาณ 1 ใน 100 ราย ที่เสียชีวิต และยังมีรายงานเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในแอฟริกาตะวันตกด้วย
 
 
 
ระบาดได้บ่อยแค่ไหน?
 
 
พบการระบาดครั้งแรกในลิงที่ถูกจับมาจากป่า และตั้งแต่ปี 1970 มีรายงานการระบาดบ่อยครั้งใน 10 ประเทศแอฟริกา
 
 
ในปี 2003 พบระบาดในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกที่พบโรคนี้นอกแอฟริกา ผู้ป่วยติดโรคจากการสัมผัสใกล้ชิดกับแพรรีด็อก ซึ่งติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหลายชนิดที่นำเข้ามาในประเทศ โดยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 81 ราย แต่ไม่มีใครเสียชีวิต
 
 
ในปี 2017 ไนจีเรีย เผชิญการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบประมาณ 40 ปี หลังเคยพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงครั้งหลังสุด มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อฝีดาษลิง 172 คน และเหยื่อ 75% เป็นชายอายุระหว่าง 21-40 ปี
 
 
 
รักษาอย่างไร?
 
 
ไม่มีวิธีการรักษาโรคฝีดาษลิง แต่การระบาดสามารถควบคุมได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ และวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีประสิทธิภาพ 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง
 
 
 
สาธารณชนควรวิตกกังวลหรือไม่?
 
 
บรรดาผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า โรคนี้ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดระดับชาติ ความเสี่ยงต่อสาธารณชนจึงต่ำมาก จากการเปิดเผยของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ หรือ PHE
 
 
ศาสตราจารย์โจนาธาน บอลล์ ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม กล่าวว่า "ข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพียง 1 รายจาก 50 รายที่ติดเชื้อครั้งแรก แสดงให้เห็นว่า ไวรัสชนิดนี้ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ”
 
 
ส่วนนายแพทย์ นิค ฟิน รองผู้อำนวยการสำนักงานโรคติดเชื้อแห่งชาติที่สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ กล่าวเพิ่มเติมว่า มันสำคัญที่จะย้ำว่า โรคฝีดาษลิงไม่ได้แพร่เชื้อกันได้ง่าย ๆ ระหว่างคน และความเสี่ยงต่อผู้คนทั่วไป ก็อยู่ในระดับต่ำมาก
 
 
เพียงแต่เฝ้าติดตามและระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเท่าที่จำเป็น เพื่อให้คำแนะนำ
 
 
เมื่อฟังอย่างนี้แล้ว ก็คงพอสบายใจได้บ้างว่า โรคฝีดาษลิง จะไม่ระบาดใหญ่ซ้ำเติมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเล่นงานทุกประเทศทั่วโลกสะบักสะบอมอยู่ในขณะนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง