รีเซต

สงคราม “อิหร่าน-อิสราเอล” สะเทือนเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก?

สงคราม “อิหร่าน-อิสราเอล” สะเทือนเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก?
TNN ช่อง16
20 เมษายน 2567 ( 21:33 )
72

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอลครั้งใหม่ ที่เริ่มขึ้นหลังจากอิสราเอลโจมตีทางอากาศสถานกงสุลอิหร่านในประเทศซีเรีย มีผู้เสียชีวิต 13 คน ซึ่ง อิหร่านถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและตอบโต้ ด้วยการส่งโดรนและขีปนาวุธมากกว่า 300 ลูก/ลำ เข้าไปโจมตีดินแดนอิสราเอล ขณะที่ อิสราเอลเปิดเผยว่าได้รับความเสียหายเล็กน้อยและสามารถใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีอยู่ป้องกันได้มากถึงร้อยละ 99 ในเวลาต่อมาอิสราเอลได้ประเมินสถานการณ์ผ่านการประชุมครม.สงครามหลายครั้งก่อนที่เช้าวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าอิสราเอลส่งโดรน 3 ลำเข้าโจมตีเมืองอิสฟาฮาน ทางตอนกลางของอิหร่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง, แหล่งผลิตขีปนาวุธที่สำคัญ และโรงงานนิวเคลียร์หลายแห่ง ขณะที่ ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่าน สามารถทำลายโดรนดังกล่าวได้ และไม่มีสถานที่ตั้งนิวเคลียร์ได้รับความเสียหาย 



หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานโดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล ระบุว่า การโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่านเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าที่มีจุดประสงค์เพื่อทำลายล้างอิหร่าน โดยอิสราเอลต้องการส่งสัญญาณแก่อิหร่านว่า มีศักยภาพในการใช้อาวุธโจมตีถึงใจกลางอิหร่าน ด้าน นายเอฟราอิม ฮาเลวี อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของอิสราเอล กล่าวว่า วิธีของอิสราเอลมีเป้าหมายเพื่อส่งข้อความถึงอิหร่าน โดยไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายรุนแรง และผลกระทบที่ลุกลามออกไป 


ขณะที่ อัลจาซีราห์ รายงานว่า ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เตือนอิสราเอล หากกระทำการเพื่อต่อต้านผลประโยชน์ของอิหร่าน และได้รับการพิสูจน์ว่าจริงแล้ว การตอบโต้กลับของอิหร่านจะเกิดขึ้นในทันทีและในระดับสูงสุด แต่ตราบใดที่อิสราเอลไม่มี การกระทำที่เสี่ยง ต่อต้านผลประโยชน์ของอิหร่าน ก็จะไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ จากทางอิหร่าน ทั้งนี้ อัลจาซีราห์ รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์พิเศษของอับดอลลาเฮียน ต่อสำนักข่าว NBC News ของสหรัฐฯ ซึ่ง การให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เกิดขึ้นหลังจากรายงานข่าวว่า อิสราเอลส่งโดรนอากาศยานไร้คนขับบุกอิหร่านเมื่อวันที่ 19 เม.ย. แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ยืนยันว่า เหตุโดรนบุกอิหร่านดังกล่าวไม่ใช่การโจมตี แต่เป็นเหมือน "ของเด็กเล่น" ขณะที่ รัฐบาลอิหร่านกำลังสืบสวนเรื่องนี้อยู่



ปฏิกิริยาของอิหร่านดังกล่าว หลายฝ่ายเชื่อว่าเหมือนส่งสัญญาณว่า อิหร่านไม่ต้องการให้การตอบโต้กันไปมากับอิสราเอลเช่นนี้ดำเนินต่อไปอีก และการที่ทั้งอิหร่านและอิสราเอลใช้ความเงียบในการพูดถึงข่าวนี้ โดยที่อิหร่านไม่ให้ความสำคัญ ชี้ให้เห็นถึงการตัดสินใจของทั้ง 2 ประเทศว่า ไม่ต้องการเพิ่มความขัดแย้งไปมากกว่านี้ 


เช่นเดียวกับความเห็นของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้สัมภาษณ์ในรายการ TNN ข่าวค่ำ มองว่าทั้งอิสราเอลและอิหร่านไม่ต้องการให้ความขัดแย้งบานปลาย โดยการตอบโต้กันไปมานั้นเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมีขอบเขตจำกัด ทำให้ไม่เกิดความเสียหายต่อทั้งสองฝ่าย เนื่องจากอิสราเอล และสหรัฐฯไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ที่ขณะนี้ยังไม่ได้ดีขึ้นมากจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่อิสราเอลจำเป็นต้องเล่นตามเกม เนื่องจากผู้นำอิสราเอลยังต้องการการสนับสนุนจากกลุ่มขวาจัด ซึ่ง เป็นผลประโยชน์ทางการเมืองด้วย ขณะที่ สหรัฐฯ ก็ใกล้จะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ ส่วนอิหร่านเอง ถือเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ที่ตัดสินใจโจมตีดินแดนอิสราเอลครั้งแรก เพื่อแสดงศักยภาพด้านอาวุธและความเป็นผู้นำ หลังจากถูกโจมตีสถานกงสุลในซีเรีย แต่อิหร่านก็โจมตีในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากรู้กำลังที่ยังเป็นรองเรื่องอาวุธยุทธโธปกรณ์



ดังนั้น สถานการณ์ในขณะนี้จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก อาจจะมีผลทำให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวน แต่เกิดจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และที่อาจมีผลกระทบมากกว่าประเด็นอื่น คือ เรื่องราคาน้ำมันที่อาจทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย ประเมินว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านนั้นเป็นไปได้น้อยมาก แต่ถือว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังเป็นเรื่องอ่อนไหว และต้องติดตามต่อไป


ก่อนหน้านี้ เคลย์ ซีเกิล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการน้ำมันระดับโลกของราพิแดน เอเนอร์ยี(Rapidan Energy) มองว่า การที่อิสราเอลตอบโต้อิหร่าน สะท้อนถึงสงครามโดยตรงระหว่าง 2 ประเทศนี้หมดยุค “สงครามเงา” แล้ว สถานการณ์ดังกล่าวเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับตลาดน้ำมัน เพราะหากสงครามขยายวง ก็จะกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของตะวันออกกลาง ซึ่ง มีปริมาณมากกว่า 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ การหยุดชะงักหรือการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ช่องแคบยุทธศาสตร์ที่อยู่ระหว่างอิหร่านและโอมาน ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จนอาจจะทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ ซึ่ง เป็นระดับที่กระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำมัน



ด้าน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์สงครามในอิสราเอล พบว่า ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทย หรือแม้แต่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ อีกทั้ง กรมยังหารือกับผู้ส่งออก ภาคขนส่ง พบว่าผู้ส่งออกได้มีการศึกษาและพิจารณาเส้นทางในการขนส่งสินค้าเพื่อเลี่ยงเส้นทางปัญหา โดยต้องยอมรับว่าผู้ส่งออกมีการปรับตัวตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น อย่างไรก็ดี กรมมีแผนของการส่งเสริมการค้าและการส่งออกไทยต่อเนื่อง และยังคงดำเนินการได้ปกติ พร้อมที่จะผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2567 อย่างเต็มที่


สำหรับ การค้าระหว่างไทย-อิสราเอล ปัจจุบัน 2567 (ม.ค.-กพ.) อิสราเอล เป็นคู่ค้าอันดับที่ 39 ของไทย และอันดับ 6 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง สินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิสราเอล 5 อันดับแรก ปี 2567 (ม.ค.-กพ.)  ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว รถยนต์และส่วนประกอบ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ



สินค้านำเข้าสำคัญจากอิสราเอล 5 อันดับแรก ปี 2567 (ม.ค.-กพ.)  ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้แผงวงจรไฟฟ้า


ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกจากไทยลดลง ตั้งแต่เริ่มสงครามฮามาส เมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยสินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปอิสราเอล 5 อันดับแรก ปัจจุบัน 2567 (ม.ค.-กพ.)  ได้เปลี่ยนแปลงอันดับ จากปี 2566 มีข้อสังเกตว่ามูลค่าการส่งออก รถยนต์และส่วนประกอบ (ที่เคยเป็นอันดับหนึ่งมาหลายปีติดต่อกัน) ลดลง 81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ซึ่ง หากสงครามยุติและเศรษฐกิจอิสราเอลฟื้นตัว การส่งออกรถยนต์จากไทยน่าจะมีมูลค่าเพิ่มมากขี้นเช่นเดียวกับในช่วงเวลาภาวะปกติก่อนเกิดสงครามกับฮามาส แม้ว่าตุรกีจะห้ามการส่งออกวัสดุก่อสร้างมาอิสราเอล แต่อิสราเอลนำเข้าวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ข้ามพรมแดน เช่น จากอียิปต์ จอร์แดน และที่นำเข้าจากประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ อิตาลี และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งสินค้าวัสดุก่อสร้างจากไทยอาจจะแข่งขันได้ยากเพราะเสียเปรียบด้านราคาและค่าขนส่งที่ระยะทางไกลมากกว่า 



ส่วนด้านบวก สินค้าอาหารที่ส่งออกจากไทย เช่น อาหารกระป๋อง มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 119% ปี 2567 (ม.ค.-กพ.) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ข้าว เพิ่มขึ้น 1.62% เครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 21% ขณะที่ ผู้นำเข้าสินค้าอาหารมายังอิสราเอลแจ้งว่าได้นำเข้าสินค้าตามปกติ ไม่ได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้น ในช่วงภาวะสงคราม แต่วิกฤตทะเลแดงทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้นมากถึง 5 เท่า แม้ว่าในปัจจุบันจะลดลงบ้างแต่ก็ยังแพงกว่าปกติ 2-3 เท่า


เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต

ข้อมูล : รอยเตอร์, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง