“สงครามนิวเคลียร์” หากปะทุขึ้นบนโลก จะทำลายล้างมวลมนุษยชาติแค่ไหน?

จะเกิดอะไรขึ้น หากสงครามนิวเคลียร์ปะทุขึ้นบนโลก?
แค่ระเบิดนิวเคลียร์ลูกเดียวก็สังหารประชาชนได้หลายล้านคนแล้ว แต่ถ้าเกิดมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์หลายสิบ หรือหลายร้อยลูกห้ำหั่นกันล่ะ?
ความขัดแย้งเต็มรูปแบบระหว่างอินเดียและปากีสถาน ที่เสี่ยงจะกลายเป็นสงครามขึ้นทุกที ทำให้โลกตั้งคำถามว่า นี่จะจุดชนวนสงครามนิวเคลียร์หรือไม่ เพราะทั้งอินเดียและปากีสถาน ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากกันทั้งคู่
ไม่ต้องสงสัยว่า อาวุธนิวเคลียร์ คือ อาวุธที่ทรงพลังทำลายล้างมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ หรือ ไอแคน (ICAN) อธิบายว่า ถ้าชาติใดชาติหนึ่งทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงในเมืองใหญ่ มันก็จะสังหารประชากรได้หลายสิบล้านคน
สมมติว่าเป็นสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจถึงหลายร้อยล้านคนทีเดียว
พลังทำลายล้างระยะสั้น
เมื่อระเบิดนิวเคลียร์ถูกจุดชนวน เพียงแค่ 10 วินาที ลูกไฟของการระเบิดก็จะขยายตัวถึงจุดสูงสุด พลังงาน ความร้อน และกัมมันตภาพรังสีมหาศาล จะถูกปล่อยออกมา
คลื่นกระแทก หรือ Shock Wave จะพุ่งกระจายด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง
ผู้คนใกล้ศูนย์กลางระเบิด ล้มตายทันที ทุกอย่างแทบเป็นจุล ระเหยเป็นไอ อยู่ใต้ดินก็ไม่รอด หากไม่เสียชีวิตจากแรงระเบิด ก็จะขาดออกซิเจน หรือภาวะพิษคาร์บอนมอนอกไซด์
ผู้คนยังอาจเสียชีวิตทางอ้อม จากอาคารที่พังถล่ม และสะเก็ดซากที่กระเด็นมาใส่
พลังทำลายล้างระยะยาว
กัมมันตภาพรังสีมหาศาลที่ถูกปลดปล่อยออกมา จะปนเปื้อนสภาพแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง ก่อให้เกิดวิกฤตสุขภาพร้ายแรง
ผู้คนเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือพันธุกรรมเสียหาย ไม่ใช่แค่เพียงเมืองที่ถูกบอมบ์ แต่ขยายผลไปถึงระดับภูมิภาค
ไอแคนยกตัวอย่าง ผลกระทบจากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในระดับชั้นบรรยากาศช่วงปี 1945-1980 ทำให้ประชากรโลกราว 2.4 ล้านคน เสี่ยงเสียชีวิตจากมะเร็ง ที่เป็นผลจากกัมมันตภาพรังสี
การใช้ระเบิดนิวเคลียร์แค่ 1% ของที่มีทั้งโลก จะแทรกแซงสภาพภูมิอากาศโลก และเสี่ยงทำให้ประชากรโลกราว 2 พันล้านคน ต้องอดหยากจากภัยแล้ง
แต่หากมีการจุดชนวนระเบิดนิวเคลียร์หลายพันลูกล่ะก็ นั่นจะนำมาสู่ ฤดูหนาวนิวเคลียร์ หรือ โลกที่ดำดิ่งสู่ความหนาวเย็นยะเยือก
นี่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดจาก หมอกควันหนาทึบจากการระเบิด สะสมตัวในชั้นบรรยากาศ จนแสงอาทิตย์เล็ดลอดเข้ามาไม่ได้
นี่เป็นการทำลายระบบนิเวศโลกที่เปราะบางอยู่แล้ว ให้ยากต่อการฟื้นคืน
อันตรายเหล่านี้ และภาพที่เราเห็นจากการทิ้งระเบิดนางาซากิ และฮิโรชิมะของญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โลกจึงปรารถนาว่า อาวุธนิวเคลียร์จะไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป แต่ก็ต้องยอมรับว่า โลกของเรามีหัวรบนิวเคลียร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว กว่าหมื่นลูกเลยทีเดียว