รีเซต

แนวคิดเรือสำราญแห่งอนาคต ยืดหดใบเรือโซลาร์เซลล์ได้ ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

แนวคิดเรือสำราญแห่งอนาคต ยืดหดใบเรือโซลาร์เซลล์ได้ ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2566 ( 12:45 )
97
แนวคิดเรือสำราญแห่งอนาคต ยืดหดใบเรือโซลาร์เซลล์ได้ ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

เฮอร์ติก-รูทอึน (Hurtigruten) บริษัทเดินเรือสำราญจากนอร์เวย์ ได้เผยโฉมแนวคิดเรือสำราญไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีใบเรือแบบยืดหดได้ พร้อมกับค่าการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ โดยเรือสำราญไฟฟ้าลำดังกล่าว ได้รับการตั้งชื่อว่า ซี ซีโร (Sea Zero) 


โดยสเปกเบื้องต้นของเรือ ซี ซีโร (Sea Zero) คือ มีความยาวตัวเรือ 443 ฟุต หรือ 135 เมตร พร้อมห้องโดยสาร 270 ห้องที่รองรับผู้โดยสารได้ 500 คน และลูกเรือ 99 คน คาดว่ามันจะสามารถเดินทางได้ในระยะทาง 300-350 ไมล์ทะเล หรือราว 550-650 กิโลเมตร โดยพลังงานหมุนเวียนจากใบเรือหรือพอร์ตชาร์จจะถูกเก็บไว้ในระบบจัดเก็บแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ความจุถึง 60 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง (MWh) ผู้พัฒนายังวางแผนใช้ใบเรือ (Wing Rigs) ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบยืดหดได้บนตัวเรือจำนวน 3 ใบ



โดยใบเรือดังกล่าว จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 1,500 ตารางเมตร และมีพื้นผิวที่รับแรงลมทั้งหมดขนาด 750 ตารางเมตร  ซึ่งใบเรือดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มอากาศพลศาสตร์ (Aero Dynamics) ของตัวเรือ และสามารถดึงกระแสลมในระดับความสูง 50 เมตร มาเพื่อเพิ่มแรงขับของตัวเรือได้อีกด้วย 


ใบเรือแต่ละอันยังสามารถปรับได้อย่างอิสระจากกัน เช่น ปรับให้มีองศากางที่ต่ำลงเพื่อลอดใต้สะพาน หรือปรับมุมให้รับลมได้มากขึ้น และยังมีคุณสมบัติด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ ที่จะเข้ามาแทนที่การใช้คนจำนวนมากบังคับเรือ ซึ่งรวมถึงการบังคับทิศทางด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI), เครื่องขับดัน 2 ตัวแบบยืดหดได้ เพื่อลดแรงต้านใต้น้ำในตัวเรือขณะแล่น, ระบบหล่อลื่นอากาศใต้น้ำเพื่อให้เรือไฟฟ้าสามารถ "ล่อง" บนผืนน้ำอย่างง่ายดาย นอกเหนือจากนี้ก็จะมีเทคโนโลยีการเคลือบตัวเรือขั้นสูง, เทคโนโลยีการทำความสะอาดตัวเรือแบบแอคทีฟ และอีกหลากหลายประการ 



บริษัทยังเสริมว่า ด้วยเซนเซอร์และกล้องนับสิบตัวผนวกรวมเข้ากับระบบ AI พวกเขาจึงสามารถลดขนาดสะพานเดินเรือลง และออกแบบส่วนสะพานเดินเรือให้เหมือนห้องนักบินในเครื่องบิน (สะพานเดินเรือ คือ พื้นที่ยกสูงเหนือดาดฟ้าหรือห้องควบคุมและสั่งการเรือ) การออกแบบนี้ช่วยเสริมหลักอากาศพลศาสตร์และทำให้ผู้เข้าพักมีพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่สำหรับพักผ่อนมากขึ้น 


ทั้งนี้ ผู้โดยสารเรือยังสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ โดยการตรวจสอบการใช้น้ำและพลังงานของตนเองผ่านแอปพลิเคชันมือถือแบบโต้ตอบได้ (Interactive) นอกจากนี้ ตัวเรือยังมีฟีเชอร์ต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นถึงการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ไฟแสดงสถานะแบตเตอรี่ที่ด้านข้างของเรือ บริษัทยังระบุว่า กำลังมองหาแบตเตอรี่เคมีที่ปราศจากโคบอลต์ และนิกเกิลน้อยที่สุดเพื่อลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดมาใช้งานอีกด้วย


เฮอร์ติก-รูทอึน ยังตั้งเป้าให้เรือสำราญลำใหม่ล่าสุด ที่มีชื่อว่า ซี ซีโร (Sea Zero) เป็นเรือพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประหยัดพลังงานที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยกเครื่องบริษัทครั้งใหญ่ให้กลายเป็นบริษัทแถวหน้าด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยคาดว่า ซีซีโร จะออกเรือแล่นไปในทะเลจริงครั้งแรกได้ในปี 2030 


บริษัทผู้ผลิตยังกล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อน เรือจะได้รับพลังงานพิเศษจากพระอาทิตย์ในดินแดนทางตอนเหนือของนอร์เวย์ที่ส่องแสงตลอด 24 ชั่วโมงต่อวันอีกด้วย ซึ่งหมายความว่า สามารถควบคุมการใช้จ่ายพลังงานลมและแสงอาทิตย์ได้อย่างเพียงพอขณะอยู่ในทะเล ให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์การขับเคลื่อนยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างแท้จริง


ที่มาของข้อมูล Designtaxi

ที่มาของรูปภาพ Hurtigruten


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง