ราชินีแห่งป่าฝนมาก่อนกาล ฝนหนุน "ดอกกระเจียว" บานเร็ว เตรียมชมความงามได้ปลายพ.ค.

ทุ่งดอกกระเจียว ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ กำลังเตรียมต้อนรับฤดูการท่องเที่ยวเร็วกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ลงพื้นที่สำรวจ พบว่าขณะนี้ “ต้นกระเจียว” เริ่มแทงยอดพ้นดิน และมีการสร้างใบแล้ว 1-2 ใบ จากอิทธิพลของฝนแรกที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงก่อนวันสงกรานต์
ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามชี้ว่า หากปริมาณฝนยังตกต่อเนื่องโดยไม่มีช่วงฝนทิ้งช่วง การเติบโตของต้นกระเจียวจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะเริ่มออกดอกชุดแรกในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ และนักท่องเที่ยวจะสามารถชมความงดงามของดอกกระเจียวได้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยช่วงที่ดอกกระเจียวจะบานเต็มที่สุดคือช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นช่วงไฮไลต์ของการท่องเที่ยวทุ่งดอกกระเจียวประจำปี
ทั้งนี้ ลักษณะของฤดูกาลฝนในปี 2568 คล้ายคลึงกับปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนสูง และฝนแรกตกเร็วตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ทำให้ทุ่งดอกกระเจียวในปีนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และงดงามเป็นพิเศษ
ดอกกระเจียว หรือที่บางคนเรียกว่า “บัวสวรรค์” เป็นไม้ล้มลุกที่พบมากในพื้นที่ลานหินหรือป่าดินทรายตามภูเขาสูง โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma alismatifolia อยู่ในวงศ์ขิง-ข่า (Zingiberaceae) ดอกกระเจียวจะออกดอกเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูฝน โดยมีความงดงามและเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลีบดอกมีสีชมพูอมม่วง ไล่เฉดอ่อนเข้มตามสายพันธุ์ และมักขึ้นรวมกันเป็นทุ่งกว้างท่ามกลางหมอกบางในยามเช้า ทำให้ได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งป่าฝน”
แม้การคาดการณ์นี้จะมีแนวโน้มที่ดี แต่อุทยานฯ ย้ำว่า เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นจากข้อมูลด้านสภาพอากาศและผลการสำรวจล่าสุด โดยเจ้าหน้าที่จะยังคงติดตามความเปลี่ยนแปลงของทุ่งดอกกระเจียวอย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
สำหรับการประกาศช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างเป็นทางการ ทั้งจากอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ เจ้าหน้าที่จะต้องรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประเมินให้แม่นยำ และเผยแพร่ให้ทราบต่อไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างสะดวกและตรงจังหวะการบานของดอกกระเจียว