กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-นายก อบต. ฮอด-อมก๋อย-สบเมย ฮือค้าน โครงการผันน้ำยวม เตรียมฟ้องศาล
กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-นายก อบต. ฮอด-อมก๋อย-สบเมย ฮือค้าน โครงการผันน้ำยวม เตรียมรวมพลังฟ้องศาลปกครอง นักวิชาการ มช.ชี้ชำรุดอีไอเอ
วันที่ 6 พ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ มีการประชุมเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน โดยมีวาระสำคัญคือการแสดงจุดยืนของชุมชนต่อผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวม-ภูมิพล โดยมีตัวแทนจาก ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต. ต.นาคอเรือ คณะผู้บริหาร นายกอบต.และรองนายกอบต. ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พร้อมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนกว่า 60 คน
นายจำรัญ นวโต กำนันตำบลฮอด และประธานชมรมกระเหรี่ยงโผล่ง กล่าวว่า จากการติดตามกรณีโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพลนั้น ได้ปรึกษาหารือกับผู้นำหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ทั้ง ต.ฮอด และ ต.นาคอเรือมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ถ้ามีการผันน้ำลงอ่างในเขื่อนภูมิพล กลัวว่าการเก็บเกี่ยวอาจจะไม่ทัน ชาวบ้านในเขตนี้จะได้รับผลกระทบทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะพวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้าน ต.นาคอเรือ ต.ฮอด อยู่ในเขตป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ นับตั้งแต่คนรุ่นพ่อแม่เราเสียสละที่ดินให้คนไทยทั้งประเทศในการสร้างเขื่อนภูมิพล เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่มาก
แต่ผลลัพธ์ของการเสียสละของปู่ย่าตายายเรา ไม่ได้รับความเป็นธรรมเลย ชาวบ้านได้รับความทุกข์ยากจากการเสียสละ เดิมเรื่องที่ดินจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาดูแล กรณีน้ำขึ้นมาถึงที่เดิมได้ไร่ละ 400 บาท รู้สึกเศร้าเสียใจอย่างยิ่ง การสร้างเขื่อนส่งน้ำให้กับคนท้ายเขื่อนอย่างเดียว ส่วนการผลิตไฟฟ้า ชาวบ้านในพื้นที่อ.ฮอด อ.ดอยเต่านั้น กว่าจะได้ใช้ไฟฟ้าก็ปี พ.ศ 2537 แล้ว แต่เขื่อนสร้างเสร็จปี 2507
ด้าน นายสะท้าน ชีวะวิชัยพงษ์ ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ที่ผ่านมา พวกเราพยายามจะหาโอกาสมาเจอกัน แต่ติดสถานการณ์โควิด เดิมโครงการนี้คือโครงการเขื่อนแม่ลามาหลวง ที่วางแผนไว้หลายสิบปีแล้ว และเขาพยายามจะรื้อฟื้นโครงการกลับมา หลายปีที่ผ่านมาตัวแทนจากมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ลงพื้นที่ตลอดเพื่อทำการศึกษา แต่มีการปกปิดข้อมูล ชาวบ้าน อ.สบเมย ก็ไม่รู้ข้อมูล พยายามจะหาข้อมูล
ทุกครั้งที่มีเวทีประชุมที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปร่วมแบบแสดงจุดยืน ทุกเวที ทุกครั้งที่เราแสดงความเห็น แต่คำพูดของเราจะไม่บันทึกไป แต่เอาภาพการแจกของ และเอาภาพที่ไปเจอชาวบ้านไปใส่ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนพวกเราเรียกว่า อีไอเอร้านลาบ และข้อมูลที่จะคัดค้านเพื่อไม่ให้ผ่าน แต่ว่าไม่สามารถชะลอได้
“ในรายงานอีไอเอ มีชื่อหมู่บ้านเพียงไม่กี่แห่ง น้อยมาก ไม่ครบ และข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีผลกระทบหนักมาก ที่บ้านสบเงา ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามจะปกป้องพื้นที่ป่าชุมชน ป่าจิตวิญญาณไว้ แต่พอเป็นโครงการผันน้ำ ทำไมหน่วยงานรัฐจึงอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ ลำพังแม่น้ำยวม น้ำไม่เยอะ น้ำแห้งมาก โครงการนี้เขามองทะลุถึงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน เพราะเป็นแม่น้ำที่ใหญ่มาก เป็นแม่น้ำนานาชาติ” นายสะท้าน กล่าว
นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ ตัวแทนชุมชนบ้านแม่เงา อ.สบเมย กล่าวว่า ที่หมู่บ้านตนคือจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และกองดินกองแรกเขาบอกว่าจะห่างบ้านแม่เงา 2 -3 กิโลเมตร แต่จริง ๆ แล้วติดกันเลย กรมชลประทานมาหลอกชาวบ้านทุกครั้ง โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ เอาสิ่งของมาให้ คนเฒ่าไม่รู้จักที่มาที่ไปก็รับไว้ และตอนนี้ได้บอกผู้เฒ่าแล้วว่า ไม่ให้เอาแล้ว
ถามว่า โครงการผันน้ำกับชุมชนน้ำเงา อะไรเกิดก่อนกัน แม่น้ำเงา และชุมชนมาก่อน ต่อมาจะมีโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเพื่อใช้สูบน้ำ ตอนนี้แม้ว่าในหมู่บ้านไฟฟ้าติดดับๆ ก็ธรรมดาซึ่งเพียงพอแล้ว แต่พวกเราเจอปัญหาคือทั้งอุโมงค์และสายไฟฟ้า ยันยืนว่าอย่างไรก็ต้องสู้ แม่น้ำเงามีความสมบูรณ์มาก ปีนี้ชาวบ้านได้เงินมากมายหลายแสน เพราะว่าชาวบ้านมีรายได้ช่วงสงกรานต์ที่มีคนมาท่องเที่ยว
ขณะที่ นายคัมภีร์ สมัยอาทร นายกอบต.อมก๋อย กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่หลายหมู่บ้านยังไม่รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทั้งโครงการผันน้ำยวม ตลอดแนวโครงการ 62 กิโลเมตร โดยเฉพาะจุดกองดินต่าง ๆ และโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จะมาใช้ผันน้ำยวม ดูจากข้อมูลแล้ว มีหลายหมู่บ้านมากๆ ในพื้นที่อมก๋อยที่อยู่ในพื้นที่โครงการ
“ตอนนี้ชาวบ้านกะเบอะดิน ได้ทำการฟ้องศาลปกครองกรณีเหมืองแร่ ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะหลังจากฟ้องศาล ตอนนี้บริษัทพยามยามโทรหาและจะให้ความช่วยเหลือ ถ้าเรารวมกันไปฟ้องศาลปกครองกรณีโครงการผันน้ำ คิดว่าจะมีผลดีแน่นอน
สิ่งที่ผมเจ็บใจมากที่สุดคือ การขอใช้พื้นที่ป่าไม้ของโครงการผันน้ำ ในพื้นที่ทางอบต.จะทำโครงการพัฒนาต่าง ๆ ก็ทำไม่ได้ โครงการนั้นนี้ บอกว่าอบต.ทำไม่ได้ แต่ทำไมโครงการผันน้ำซึ่งเป็นโครงการที่จะมีผลกระทบรุนแรง ทำไมถึงได้อนุญาตให้ทำได้ง่ายๆ ขนาดนี้ ได้ง่าย ผมอยากให้มีการประชุมกลุ่มเพื่อเตรียมการฟ้องศาลปกครองเลย” นายกอบต. อมก๋อย กล่าว
ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิชาการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนได้ลงทำงานกับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ คือ บ้านแม่เงา และแม่งูด เพื่อทำข้อมูลเปรียบเทียบกับรายงานอีไอเอของกรมชลประทานเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องเศรษฐกิจของชาวบ้าน เพราะในรายงานอีไอเอมักจะระบุว่า ไม่มีผลกระทบหรือผลกระทบเล็กน้อย กำลังเริ่มทำเศรษฐกิจของหมู่บ้าน
เราพบว่า ชาวบ้านในแม่เงา มีการทำสวน มีทุเรียน มีการทำบุกเป็นรายได้ ส่วนที่บ้านแม่งูด สวนลำไยเป็นรายได้มหาศาลของชาวบ้าน ที่สำคัญข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบไม่ปรากฎในรายงาน
นายวันไชย สีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด กล่าวว่า ตอนนี้อยากให้ผู้นำชุมชนแต่ละหมู่บ้านต้องไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนเพื่อเตรียมคัดค้านโครงการนี้ และการฟ้องคดี พื้นที่บ้านแม่งูด ไม่ได้รับผลกระทบเพียงแค่ 3 คน แต่ว่าจริง ๆ แล้วจะได้รับผลกระทบทั้งหมู่บ้านกว่า 200 ครัวเรือน เพราะว่าอยู่ติดกับลำน้ำแม่งูดและใช้ประโยชน์ลำน้ำเป็นหลักในการเกษตรของชาวบ้าน