รีเซต

ชาวบ้านลุ่มสาละวิน เดือดร้อนหนักนับพัน เดินเรือไม่ได้ ติดพรก.ฉุกเฉิน จี้รัฐผ่อนปรน

ชาวบ้านลุ่มสาละวิน เดือดร้อนหนักนับพัน เดินเรือไม่ได้ ติดพรก.ฉุกเฉิน จี้รัฐผ่อนปรน
ข่าวสด
21 มิถุนายน 2563 ( 10:09 )
238
ชาวบ้านลุ่มสาละวิน เดือดร้อนหนักนับพัน เดินเรือไม่ได้ ติดพรก.ฉุกเฉิน จี้รัฐผ่อนปรน

 

วันที่ 21 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่หมู่บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ชายแดนไทย-พม่า ภายหลังจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ากำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ภายหลังรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 และปิดด่านชายแดน รวมทั้งห้ามเรือวิ่งในแม่น้ำสาละวิน

 

ทั้งนี้ชาวบ้าน 4-5 คน ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยนามเนื่องจากกลัวการถูกเพ่งเล็งจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้ร่วมกันให้ข้อมูลว่า กว่า 2 เดือนที่รัฐบาลสั่งปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องทางบ้านแม่สามแลบและห้ามแล่นเรือในแม่น้ำสาละวิน ได้ส่งผลกระทบต่อชาวแม่สามแลบกว่า 2,000 คนอย่างหนัก รวมทั้งชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ หลายสิบแห่งตามลุ่มน้ำสาละวิน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างพึ่งพาการเดินเรือเป็นเส้นทางสัญจรและขนส่งสินค้า เมื่อไม่สามารถทำได้ส่งผลให้ร้านค้าต่างๆในบ้านแม่สามแลบพลอยซบเซาไปด้วย ขณะที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่รับจ้างแบกข้าวของขึ้นเรือต้องตกงานในทันทีโดยไม่มีอาชีพอื่นๆ รองรับ

 

“กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา พวกเราไม่มีเงินเข้ากระเป๋าสักบาทเดียว ทุกๆวันเราต้องหาเช้ากินค่ำ พอไม่มีงานทำ เราก็ไม่รู้จะไปหารายได้มาจากไหน เงินเก็บก็ไม่มี เงินซื้อข้าวก็ไม่มี เราต้องไปแปะไว้กับร้านค้า ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะใช้หนี้เขาได้” ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเรือ กล่าว

 

สมาชิกกลุ่มเรือ กล่าวว่า หมู่บ้านแม่สามแลบมีเรือโดยสารและเรือขนส่งสินค้าอยู่ประมาณ 40 ลำ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการรับส่งผู้โดยสาร รวมทั้งนักท่องเที่ยว ขณะที่บางส่วนส่งสินค้าประเภทข้าวสารอาหารแห้งไปขายที่ท่าเรือผาซอง ในรัฐคะเรนนี เขตพม่า แล้วรับสินค้าประเภทของป่า หรือสินค้าเกษตร กลับมาขายฝั่งไทย มีรายได้เดือนละ 7-8 พันบาท แต่เมื่อถูกสั่งให้หยุดการเดินเรือทำให้ไม่มีรายได้เลยแม้แต่บาทเดียว เงินเข้าไม่มีแม้แต่บาทเดียว หลายคนพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดโดยการเก็บเห็ด-ขุดหัวบุกขาย แต่ก็ได้ไม่มากนัก

 

 

“ชาวบ้านแถวนี้ราวครึ่งหนึ่งยังไม่มีบัตรประชาชนไทย มีแต่บัตรเลขศูนย์ หรือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง อยู่ในขั้นตอนการทำเรื่องขอมีบัตร พวกเราจึงไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาใดๆ พวกเราต้องหยุดเรือกันหมด เราไม่มีอาชีพเสริมเพราะไม่มีไร่นา ไม่มีที่ดิน ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ ตอนแรกเราคิดว่าแค่รัฐบาลจะปิดด่านแค่ 1 เดือน แต่นี่ปาเข้าไปกว่า 2 เดือน เราแทบไม่มีกินแล้ว เราไม่ได้เงินเยียวยาเพราะไม่ใช่คนไทย 100 % บางคนมีบัตรประชาชนแม้ไปลงทะเบียนแล้วก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้ไปเปิดบัญชีธนาคารไว้ ถ้าจะไปเปิดบัญชีต้องไปไกลถึงตัวอำเภอแม่สะเรียง ถุงยังชีพหรือข้าวสารรัฐบาลก็ไม่เคยเอามาแจก” นายเอ ชาวบ้านแม่สามแลบ กล่าวด้วยความอัดอั้นตันใจ

 

ชาวบ้านกล่าวว่า เคยร้องเรียนความเดือดร้อนไปที่จังหวัดและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ดูแลพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ เพียงแต่มีการอนุญาตให้ชาวบ้านได้เดินเรือสัปดาห์ละ 4-5 ลำในวันพฤหัสฯ ซึ่งแทบไม่มีผลใดๆ เพราะต้องไปเช้า-เย็นกลับจึงไม่สามารถขนส่งสินค้าในที่ไกลๆ ได้

 

สิ่งที่พวกเราต้องการคือ อยากให้ทางการอนุโลมโดยการเปิดด่านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันก็ยังดี ยังไม่ต้องรับนักท่องเที่ยวก็ได้ ขอแค่ได้ค้าขายบ้าง และรับส่งผู้โดยสาร เพื่อให้ได้ทำมาหากินได้ ส่วนเรื่องโควิด ตลอด 2 เดือนเราได้เรียนรู้และมีรู้วิธีป้องกันแล้ว ทั้งเรื่องการสวมกากอนามัย เรื่องการล้างมือ” ชาวบ้านแม่สามแลบ กล่าว

 

ขณะที่ น.ส.บี (นามสมมุติ) วัย 31 ปี ชาวแม่สามแลบ กล่าวว่า ในลุ่มน้ำสาละวินมีเด็กจำนวนมากที่ไม่มีสัญชาติไทย และเป็นเด็กนักเรียนประเภทตัวจี ซึ่งโดยปกติเวลานี้เด็กๆ จะได้ไปโรงเรียนและได้กินอาหารกลางวันตามหลักโภชนาการที่โรงเรียนจัดให้แล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิดและต้องเลื่อนการเปิดเรียนออกไป ทำให้เด็กๆ จำนวนไม่น้อยมีปัญหา ขณะที่ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครอบต่างก็เครียดเพราะไม่มีรายได้ บางคนกินเหล้า พบว่าหลายครอบครัวเกิดความรุนแรงคือทำร้ายลูกเมีย

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ อบต.แม่สามแลบได้ทำหนังสือแจ้งความเดือดร้อนของชาวบ้านไปยังจังหวัดและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ส่งหนังสือถึง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่สามแลบ เพื่อขอให้รายงานข้อเสนอหรือแนวทางในการเตรียมความพร้อมการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าแม่สามแลบ และทางอบต.ได้รายงานกลับ ดังนี้

 

1.ให้มีการเดินเรือในการสัญจรและขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ ณ จุดท่าเรือแม่สามแลบ โดยมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน 2.ตั้งจุดคัดกรอง โดยมีการบูรณาการสนับสนุนการบริการในการคัดกรอง ของทุกหน่วยงานในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้อง ณ ท่าเรือ คือ รพ.สต./อบต./ทหาร/ตำรวจ/ อสม./ป่าไม้

 

3. ให้ลงทะเบียนทั้งคนขับเรือ และผู้โดยสารทุกคน ทุกครั้งทั้งเรือเข้า-ออก ให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และรักษาระยะห่างในการนั่งเรือ ให้ล้างมือด้วแอลกอฮอล์ หรือเจล สบู่ ณ จุดขึ้นลงเรือทุกครั้ง 4.การขนส่งสินค้าและเครื่องอุปโภคบริโภคทางเรือ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือมาตรการจากราชการหรือรัฐบาล

 

นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้รับทราบความเดือดต้อนของชาวบ้านแม่สามแลบและชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวินแล้ว ซึ่งทางอบต.แม่สามแลบ ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่มีคำตอบ ทั้งนี้การที่รัฐบาลออกมาตรการแบบรวมโดยไม่ให้มีการแล่นเรือในแม่น้ำสาละวิน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมากโดยเฉพาะบางหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและต้องเส้นทางเดินเรือเป็นหลักในการสัญจร

 

“ถ้าหากหน่วยงานราชการเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน และยอมอนุโลมให้มีการเดินเรือสินค้าก็จะช่วยให้ชาวบ้านได้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามวิถีปกติ ส่วนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดตอนนี้ชาวบ้านก็เข้าใจและรับรู้ว่าควรรับมืออย่างไร” นายมานพ กล่าว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง