รีเซต

ชาวบ้าน ลุยส่งหนังสือถึง “บิ๊กป้อม” จี้เลื่อนถก EIA โครงการผันน้ำยวม มูลนิธิสืบ ชี้สูญป่ามหาศาล

ชาวบ้าน ลุยส่งหนังสือถึง “บิ๊กป้อม” จี้เลื่อนถก EIA โครงการผันน้ำยวม มูลนิธิสืบ ชี้สูญป่ามหาศาล
ข่าวสด
14 กันยายน 2564 ( 16:56 )
75

 

ชาวบ้านลุ่มน้ำยวม ส่งหนังสือถึง “บิ๊กป้อม” วอนกรรมการสิ่งแวดล้อม เลื่อนพิจารณา EIA โครงการผันน้ำยวม ชี้ส่งผลกระทบรุนแรง มูลนิธิสืบฯ แถลงการณ์ค้านด้วย

 

วันที่ 14 ก.ย.64 นายสะท้าน ชีวะวิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เปิดเผยว่า ขณะนี้เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวินได้ส่งหนังสือ ถึงคณะรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.)และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ เพื่อขอให้เลื่อนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และขอให้ส่งกลับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) ทบทวนการพิจารณารายงานให้ครอบคลุมในทุกมิติ

 

นายสะท้าน กล่าวว่าเครือข่ายฯ ทราบว่า คชก. ได้พิจารณาผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดส่งรายงานดังกล่าวให้ กก.วล.เพื่อพิจารณาแล้ว และ กก.วล.จะมีการพิจารณาในวันที่15 ก.ย.64

 

 

ซึ่งเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน เห็นว่า EIA ฉบับนี้จะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งโครงการประกอบด้วยโครงสร้างต่างๆ อาทิ เขื่อนแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ ฯลฯ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำสาละวิน และพื้นที่ของอุโมงค์ส่งน้ำใน 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่

 

นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ยังจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเมยและสาละวิน อันเป็นเขตพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

โดยที่ผ่านมาทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการ สผ. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำดังกล่าวไปยังหน่วยงานตลอดมา

 

“เราระบุในหนังสือว่า คชก. ก็ยังคงผ่านรายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ค.64 หนังสือฉบับนี้ เครือข่ายฯ ขอเรียนมาเพื่อขอแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการฯ โดยขอให้เลื่อนการพิจารณารายงาน EIA ของ กก.วล.และขอให้ส่งกลับรายงานให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯทบทวนการพิจารณารายงานให้ครอบคลุมในทุกมิติ

 

พร้อมทั้งขอให้ดำเนินการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้านครบทุกกลุ่ม

 

อีกทั้ง ขอให้นำข้อห่วงกังวลหรือข้อคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง ให้ดำเนินการทบทวนการทำรายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ ให้ครอบคลุมในทุกมิติ” นายสะท้าน กล่าว

 

มูลนิธิสืบ แถลงการณ์ค้าน ชี้เสียพื้นที่ป่ามหาศาล

 

ในวันเดียวกัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์ คัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยระบุว่าโครงการดังกล่าว ต้องใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง และพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง สูญเสียพื้นที่ป่าทั้งสิ้น 3,641.77 ไร่ ปัจจุบันรายงาน EIA กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ กก.วล.พิจารณาทั้งที่รายงานดังกล่าว ยังมีข้อกังขาถึงกระบวนการจัดทำรายงานฯ ความถูกต้องของข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล ว่าผู้มีส่วนได้-เสียในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่

 

“มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในนามของตัวแทนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ 19 องค์กรตามรายชื่อแนบท้าย ได้ทำการยื่นจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และทบทวนนโยบายการจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน

 

 

โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบเอกสารคัดค้านดังกล่าว โดยขอแสดงเจตนายืนยันไม่เห็นด้วยที่จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอื่นๆ เช่น อุโมงค์ผันน้ำที่ผ่าใจกลางผืนป่าในพื้นที่อนุรักษ์อีกต่อไป

 

ซึ่งโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล คือ 2 โครงการจาก 77 โครงการ องค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ฯ

 

ขอแสดงเจตนายืนยันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรก ส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการน้ำแบบไม่ทำลายพื้นที่ป่าเพื่อให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน” แถลงการณ์ของมูลนิธิสืบระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง